สถาบันสันติศึกษาร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรจัดวงสนทนาการจัดการศึกษาแบบทวิ/พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานในชายแดนใต้

ips cscd

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ กรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนภาคใต้ฯ สภาผู้แทนราษฎร และสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกันจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการศึกษาแบบทวิ/พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานในชายแดนใต้: โอกาสและความท้าทาย” (Mother Tongue-Based Education) ณ อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร และห้องประชุม ชั้น  สำนักงานวิทยาเขตปัตตานี ม.องปัตตานี โดยมีผู้เชี่ยวชาญในหลายหลากสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศมาระดมความคิดเห็น อาทิ Prof.Joseph Lo Bianco ศาสตราจารย์ด้านภาษา การเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมและการสร้างสันติภาพ จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และ Prof. Tejendra Pherali ศาตราจารย์ด้านการศึกษา ความขัดแย้งและสันติภาพจาก University College London

กิจกรรมในวันนี้เกี่ยวเนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนภาคใต้ฯ ได้ลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้และทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทยเพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่อง และพบข้อเท็จจริงในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำที่สุดในประเทศมาอย่างยาวนาน ซึ่งการจัดการศึกษาโดยใช้ภาษาแม่ในชายแดนภาคใต้คือภาษามาลายูได้เคยเกิดขึ้นมาก่อน และมีหน่วยงานต่าง ๆ ศึกษาต่อเนื่องมามากกว่า 20 ปีจนมีข้อค้นพบว่าทำให้เด็กมีผลการเรียนดีขึ้น

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ. กล่าวว่า ในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้ทำงานร่วมกับ Summer institute of linguistics-SIL เพื่อนำร่องการใช้ภาษามาลายูในการจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวมีประสบการณ์จัดการศึกษาโดยภาษาแม่ในหลายพื้นที่ทั่วโลกหลายร้อยแห่ง และพบว่าการใช้ภาษาแม่เมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นครั้งแรกจะทำให้เด็กสนใจเรียน มีความคิดสร้างสรรค์ และผลการศึกษาดี สอดคล้องกับงานวิจัยของยูเนสโกที่ระบุว่าการสอนภาษาแม่ควบคู่กับภาษาที่สอง (หรือภาษาประชาชาติ) ทำให้การเรียนภาษาที่สองและวิชาอื่น ๆ ดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้านักเรียนได้รับการสอนที่ไม่ใช่ภาษาแม่ ความสามารถในการเรียนรู้จะลดลง จึงทำให้นักวิชาการทั่วโลกถือว่าการกีดกันเด็กจากการศึกษาโดยภาษาแม่คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอย่างหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ตัวแทนคณะกรรมาธิการได้เข้าพบนายเปโดร สวาห์เลน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย นำมาสู่การพูดคุยหารือในประเด็นการใช้ภาษาแม่ในการจัดการศึกษา เนื่องจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีภาษาราชการถึง 4 ภาษา และเด็กทุกคนมีสิทธ์เรียนโดยใช้ภาษาแม่เมื่อเข้าเรียนในชั้นเด็กเล็ก จากนั้นเมื่อเรียนในชั้นสูงขึ้นมาเด็กสามารถเลือกเรียนในภาษาราชการที่ตนสนใจได้เอง

กมธ.จึงตั้ง “คณะทํางานพิจารณาศึกษาการใช้ภาษาแม่เป็นสื่อในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา” ขึ้นมา โดยประธานกรรมาธิการเสนอให้มีการปรึกษาหารือในการจัดทำ Workshop วันนี้ใน 4 ประเด็น ได้แก่

1. การใช้ภาษาแม่เป็นสื่อการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพอย่างไร และจะแตกต่างจากการใช้ภาษาประจำชาติอย่างเดียวอย่างที่ทำกันอยู่หรือไม่อย่างไร

2. การสอนภาษาไทยกับเด็กที่มีภาษาแม่ไม่ใช่ภาษาไทย เช่น เด็กชายแดนใต้ที่ใช้ภาษามลายู คือสอนภาษาไทยกับเด็กเหล่านี้แบบเดียวกับที่สอนเด็กในจังหวัดอื่นที่ใช้ภาษาไทยตั้งแต่เกิด 100% อย่างที่ทำกันอยู่นี้เป็นปัญหาหรือไม่

3. จากข้อที่ 2 เราสอนภาษาไทยกับเด็กที่มีภาษาแม่เป็นภาษามลายูด้วยวิธีการที่ผิดใช่หรือไม่

4. การจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ต้องทำอย่างไร

“หลายคนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคทางภาษาศาสตร์ที่เป็นประเด็นเล็กๆ แต่ถ้าเราทำความเข้าใจให้ดีเราจะพบว่านี่คือเรื่องใหญ่มากที่เราปล่อยให้ประชากรกว่า 1.8 ล้านคนที่มีภาษาแม่ที่ไม่ใช่ภาษาไทยได้รับการศึกษาจากการเรียนการสอนที่ไม่ได้ใช้ภาษาแม่ ซึ่งเป็นภาษาที่พวกเขาไม่เข้าใจ เรื่องนี้สำหรับผมถือเป็นเรื่องใหญ่มากและเป็นเรื่องใหญ่ในระดับสากล ซึ่งนำมาสู่คำถามว่าประเทศไทยเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนและจะทำอย่างไรที่เราจะจัดการเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้อง” นายจาตุรนต์ กล่าว

ข้อสรุปและข้อค้นพบจากการจัด workshop ครั้งนี้จะนำไปทำเป็นข้อเสนอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายงานของ กมธ. ที่เตรียมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกรกฎาคมนี้

“วันนี้เราจะสนับสนุนให้ใช้ภาษาแม่ในการจัดการเรียนการสอนแต่เมื่อเด็กโตขึ้นมาก็ต้องขยับมาเรียนภาษาประจำชาติ เพราะถึงอย่างไรประชาชนทุกคนก็มีสิทธิ์เข้าถึงภาษาประจำชาติเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับคนในประเทศเช่นกัน” ประธาน กมธ. กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ งานประชุมในครั้งนี้ ดำเนินรายงานและกล่าวปิดการประชุมโดย ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และประธานคณะทำงานพิจารณาศึกษาการใช้ภาษาแม่เป็นสื่อในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ภายใต้คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้