สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
การสร้างองค์ความรู้เพื่อเปิดพื้นที่ทางสังคมและการสื่อสารสาธารณะ
วิสัยทัศน์
เป็นสถาบันที่สร้างองค์ความรู้ที่มีผลกระทบในวงวิชาการและสังคม การพัฒนานโยบายสาธารณะของประเทศในด้านการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยวิธีสันติ รวมทั้งสร้างจุดเด่นในการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งภายในประเทศและระดับสากลในด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่อยู่ในบริบทความหลากหลายทางวัฒนธรรม
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้กำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยเป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นโดยที่ประชุมคณบดีและรับรองโดยสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภาคใต้ ในแบบสหสาขาวิชาวิชา (interdisciplinary) หลักการสำคัญก็คือนักวิชาการทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ (รวมทั้งวิทยาศาสตร์ประยุกต์ในสาขาที่เกี่ยวพันกับคนและสังคม) จะต้องร่วมกันในการผลิตงานวิชาการเพื่อเป็นองค์ความรู้สนับสนุน หรือหนุนช่วยกลไกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในขณะที่เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต้องการจะทำให้มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นในฐานะเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยในประเด็นปัญหาความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในพื้นที่ มหาวิทยาลัยฯ มุ่งจะเป็นสถาบันวิชาการที่เน้นการวิจัยในพื้นที่จะช่วยเสนอทางออกในทางวิชาการเพื่อแก้ปัญหาทางนโยบายที่เกิดขึ้น ดังนั้น ในจุดเริ่มต้น สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้จึงถูกสร้างให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถรวมกลุ่มนักวิชาการและนักวิจัยเพื่อทำวิจัยแบบสหสาขาวิชา สามารถเชื่อมโยงกับโครงการบัณฑิตศึกษาที่มีการดำเนินการอยู่ในคณะต่างๆ สถาบันจะมีความพร้อมและความเข้มแข็งทางวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานการวิจัยและนักวิจัยจากต่างประเทศ (Research Fellowships) เกี่ยวกับการศึกษาปัญหาในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย (Deep South of Thailand) และยังเป็นองค์กรทางวิชาการที่เป็นเสมือนถังความคิด (Think Tank) เพื่อการเฝ้าระวังสถานการณ์ความไม่สงบและเสนอทางออกทางนโยบายด้วย
ต่อมาพัฒนาการของ CSCD ในช่วง 12 ที่ผ่านมาได้ผ่านกระบวนการทำงานประสานทั้งสามด้านคือเครือข่ายทางวิชาการ/การวิจัย เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่และเครือข่ายการสื่อสารและสื่อทางเลือก/สื่อใหม่ โดยทำงานร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) จนได้พัฒนามาเป็นตัวแบบการทำงานขับเคลื่อนงานทางวิชาการ ภาคประชาสังคมและพื้นที่การสื่อสารซึ่งกลายเป็นลักษณะพิเศษของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ซึ่งขับเคลื่อนวาระสังคมและการสร้างสันติภาพด้วยองค์ความรู้
ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีนโยบายที่จะเสริมสร้างการประสานพลังองค์กร (Organizational Synergy) ของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (Center for Conflict Studies and Cultural Diversity-CSCD) แห่งวิทยาเขตปัตตานีและสถาบันสันติศึกษา (Institute for Peace Studies-IPS) แห่งวิทยาเขตหาดใหญ่ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น จึงได้ยกระดับสถานภาพของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ให้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันสันติศึกษาซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากับคณะวิชาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการนี้ ชื่อ สถานภาพ ภารกิจและบทบาทของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ยังคงเหมือนเดิมแต่จะมีความเข้มแข็งขึ้นในทางสถาบันโดยร่วมทำงานกับสถาบันสันติศึกษาซึ่งจะมุ่งสู่การสร้างองค์ความรู้เพื่อเปิดพื้นที่ทางสังคมและการสื่อสารสาธารณะเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศในทางวิชาการ การวิจัยและเสริมสร้างสังคมที่มีสันติภาพ