
เปิดข้อเสนอเชิงนโยบายจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชายแดนใต้ (Peace Survey) ในห้วง 10 ปี จำนวน 10,582 ตัวอย่าง ประชาชนเรียกร้องทุกฝ่ายหยุดความรุนแรง – เร่งเดินหน้าพูดคุยสันติภาพ – สร้างพื้นที่ปลอดภัยและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอัล-อัยยูบีร์ คณะวิทยาการอิสลามนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วยเครือข่ายวิชาการ Peace Survey ได้จัดงานนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการประมวลผลข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ครั้งที่ 1–7 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวต้อนรับและยืนยันถึงพันธกิจสำคัญด้านการคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างสันติภาพซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์หลัก (Strategic Objective 4) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานเปิดงานและได้ย้ำถึงความสำคัญของการนำผลการสำรวจความคิดเห็นฯ Peace Survey นี้มาใช้ในการผลักดันทางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะตัวแทนเครือข่ายวิชาการ Peace Survey ได้นำเสนอสรุปสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2568 ว่า มีเหตุการณ์ความไม่สงบจำนวน 23,191 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7,736 คน และผู้บาดเจ็บ 14,630 คน แม้ว่าแนวโน้มสถานการณ์ความไม่สงบจะลดลงอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ภายหลังจากมีกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ แต่ก็ยังมีความแปรปรวน ระดับความถี่ของเหตุการณ์ได้สูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567 ผศ.ดร.ศรีสมภพวิเคราะห์ว่า ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีลักษณะเป็น “ความยึดเยื้อ เรื้อรังและต่อเนื่อง”
ดังนั้น สถาบันทางวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่กว่า 25 องค์กรจึงได้ประสานความร่วมมือกันในนาม “เครือข่ายวิชาการ Peace Survey” เพื่อศึกษาวิจัยและสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อแนวทางการคลี่คลายความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน การสำรวจสันติภาพหรือ Peace Survey ได้ดำเนินการอย่างมาแล้ว 7 ครั้ง สอบถามความคิดเห็นของประชาชนกว่า 10,582 คน จนได้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการวิเคราะห์และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
8 ข้อเสนอที่สำคัญจากประชาชนในพื้นที่ ได้แก่
ข้อเสนอที่ 1 การลดความรุนแรงและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ข้อเสนอที่ 2 สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม
ข้อเสนอที่ 3 พัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของพื้นที่ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ข้อเสนอที่ 4 ส่งเสริมการเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์
ข้อเสนอที่ 5 สานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขที่ครอบคลุมทุกฝ่าย และมีกลไกรับรองให้การพูดคุยฯ มีเสถียรภาพ
ข้อเสนอที่ 6 เพิ่มบทบาทของประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างครอบคลุมทุกฝ่าย
ข้อเสนอที่ 7 กระจายอำนาจการปกครองมากขึ้นให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่
ข้อเสนอที่ 8 พัฒนาและปรับปรุงกลไกการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ประสานความเข้าใจระหว่างผู้คนต่างวัฒนธรรม/พื้นที่
ข้อมูลที่น่าสนใจจากการสำรวจครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดเมื่อปี 2566 พบว่า ประชาชนร้อยละ 70.1 สนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข และโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความตื่นตัวในการแสดงความคิดเห็นและได้เสนอมาตรการเร่งด่วนที่ควรดำเนินการ เช่น การหลีกเลี่ยงการก่อเหตุความรุนแรงกับพลเรือน เจ้าหน้าที่พึงหลีกเลี่ยงการวิสามัญฆาตกรรมผู้มีความเห็นต่างจากรัฐที่ต่อสู้ในระหว่างปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น การเสริมศักยภาพของชุมชนในการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของตนเองโดยปราศจากอาวุธ รวมไปถึงการตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง รวมทั้งควรมีการพูดคุยถึงรูปแบบการเมืองการปกครองที่เหมาะสมในการจัดการท้องถิ่น
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า ประชาชนต้องการพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกกลุ่มทั้งชาวพุทธและมุสลิม โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ตลาด ศาสนสถาน ร้านน้ำชา/ร้านอาหาร การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและเวทีสาธารณะ ในขณะที่พื้นที่ของรัฐ เช่น ด่านตรวจ สถานที่ราชการ การที่เจ้าหน้าที่มาเยี่ยมบ้าน หรือการอยู่ใกล้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอาวุธ ต้องไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกคุกคาม สำหรับสถานการณ์ที่ประชาชนยังรู้สึกไม่ปลอดภัยคือการแสดงออกทางความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐหรือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หรือการวิจารณ์รัฐ และการชุมนุมในทางการเมืองโดยสงบ ซึ่งหากจะแก้ไขปัญหาความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจของประชาชน คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจึงควรสร้างเชื่อมั่นและให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ถูกคุกคาม
สำหรับข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในระยะยาวที่ประชาชน (ร้อยละ 26.5) โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างในกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen Z และ Gen Y) สนับสนุนและอยากให้เป็นอย่างนั้นมากที่สุด คือการแก้ปัญหาในทางการเมืองการปกครอง ด้วยการจัดการรูปแบบการปกครองแบบกระจายอำนาจมากขึ้นโดยโครงสร้างมีลักษณะแบบพิเศษที่สอดคล้องกับพื้นที่ภายใต้กรอบกฎหมายของไทย
เครือข่ายวิชาการ Peace Survey นี้เป็นความร่วมมือของสถาบันวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีพันธกิจและบทบาทในการทำงานเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันพระปกเกล้า มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ สมาคมร่วมสร้างชุมชนศรัทธากัมปงตักวา มูลนิธิความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ และวิทยาลัยประชาชน และองค์กรอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 25 องค์กร
ดูประมวลภาพ คลิ๊ก ที่นี่
รับชมเทปบันทึกย้อนหลัง คลิ๊ก ที่นี่