สถาบันสันติศึกษา ร่วมกับสำนักงาน กสม. จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ips cscd

เมื่อวันที่ 3 - 4 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) สถาบันพระปกเกล้า และสภาประชาสังคมชายแดนใต้ จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจัดทำข้อเสนอแนะในการบังคับใช้ และการเยียวยาเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี และนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายไพโรจน์  พลเพชร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวรตญา  กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ เข้าร่วม ณ โรงแรมริเวอร์ ปัตตานี ตำบลสะบารัง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี

โดยการเสวนาในวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ช่วงเช้า ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการเสวนา และปาฐกถา หัวข้อ “บทบาท กสม. กับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”  ต่อมาเป็นกิจกรรมสันติสนทนา ( Peace Dialogue ) หัวข้อ “บริบทของการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”

วิทยากรโดย คุณพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ดร.ขดดะรี บินเซ็น ที่ปรึกษาพรรคประชาชาติ พันตรีพนมกรณ์ พันพรมมา ผู้แทน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค ๔ ส่วนหน้า พันตำรวจโทเสกสันต์ คงคืน ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า คุณดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.ธตรฐ สนธิเณร สถาบันพระปกเกล้า ทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูตะ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม คุณละม้าย มานะการ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนภาคใต้ คุณพงษ์ศักดิ์  พรหมสังข์ ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณอับดุลเลาะ เงาะ ประธานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) ดำเนินรายการโดย ดร.อภิญญา ดิสสะมาน สถาบันพระปกเกล้า

ภาคบ่ายเป็นกิจกรรม Justice Discussion หัวข้อ กระบวนการยุติธรรมภายใต้การบังคับใช้กฎหมายความมั่น

คง และกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

วิทยากรโดย ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พลโทปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า พันตำรวจเอกรังษี มั่นจิตร ผู้แทนกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณน้ำแท้ มีบุญสล้าง สำนักงานอัยการสูงสุด (ผ่านระบบสื่อออนไลน์ Zoom Meeting) ทนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม คุณนริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ (หลานสาวของพลทหารวิเชียร เผือกสม) คุณอัรฟาน ดอเลาะ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย คุณวันสุกรี แวมามะ นายอำเภอเมืองปัตตานี

ดำเนินรายการโดย นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายสุเรนทร์ ปะดุกา ผู้อำนวยการสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้

ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ช่วงเช้าเป็นกิจกรรม Human Rights Circle หัวข้อ “การเยียวยาความเสียหายผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” และกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดพัฒนาและจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายความมั่นคง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทุกภาคส่วน

วิทยากรโดย  นายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ คุณนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร คุณโซรยา จามจุรี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ คุณอนันต์ โตงนุแย สำนักงานยุติธรรมจังหวัดยะลา คุณนภัสนันท์ ทรัพย์เจริญ ผู้แทนศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.ฟารีดา ปันจอร์ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์ คุณแวกอเดร์ แวโน๊ะ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จชต.

ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์

โดยช่วงท้ายของการสัมมนา นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวสรุปผลการสัมมนา และแนวทางการจัดทำข้อเสนอแนะในการบังคับใช้และเยียวยาเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปิดโครงการ

อนึ่ง โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เกี่ยวกับแนวทางการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ การดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และพัฒนากระบวนการช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ และคำสั่งใด ๆ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย เครือข่ายภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน ภาควิชาการ สื่อมวลชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่บังคับใช้กฎหมายความมั่นคง จำนวน 100 คน

ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. จะนำข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวปฏิบัติที่สอดคล้องเหมาะสมกับหลักสิทธิมนุษยชนในการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมและการให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนจากเครือข่ายภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน ภาควิชาการ เครือข่ายประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานของรัฐเพื่อนำไปทบทวนแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และเพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและร่วมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป