ทัศนะต่อการพูดคุยสันติภาพของชาวมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้: ผลสำรวจจากโครงการ Peace Survey
โดย ฟารีดา ปันจอร์
กระบวนการสันติภาพเป็นกระบวนการทางสังคมและการเมืองในพื้นที่สาธารณะ ที่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้างอย่างเปิดเผย โดยประสบการณ์ความขัดแย้งในทุกที่ทุกแห่งในโลกชี้ให้เห็นว่า การสนับสนุนจากประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การแก้ปัญหาประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืน การใช้เครื่องมือแบบสำรวจความคิดเห็น หรือที่เรียกว่า Peace Poll หรือ Peace Survey ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยให้ได้มาซึ่งเสียงความต้องการของประชาชนด้วยกระบวนการที่น่าเชื่อถือได้ในทางวิชาการ การสำรวจครั้งนี้จัดทำโดยองค์กรวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนใต้กว่า 24 องค์กร ซึ่งดำเนินการเป็นครั้งที่ 6 ระหว่างเดือน เมษายน – กรกฎาคม 2564 โดยรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจากการใช้แบบสอบถาม จำนวน 1,391 ตัวอย่าง ที่อาศัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวน 1,029 คน (ร้อยละ 78.5) และผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ จำนวน 281 คน (ร้อยละ 21.4) นอกจากนี้ยังมีการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนสันติภาพ จำนวน 80 คน จากผลสำรวจชาวพบว่ามลายูมุสลิมส่วนกว่า 828 คน (ร้อยละ 63.2) สนับสนุนการพูดคุย/เจรจาฯ แต่มีข้อสังเกตว่าแม้ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข ว่ายังคงเป็นกระบวนการหลักในการแก้ไขความขัดแย้ง อย่างไรก็ตามกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านกระบวนการสันติภาพมาอย่างยาวนานให้ความเห็นว่า แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่จะยังคงสนับสนุนกระบวนการพูดคุยในฐานะวิธีการ แต่ยังคงมีความไม่เชื่อมั่นด้วยเหตุผลต่างๆ เนื่องจากการการพูดคุยสันติภาพในปัจจุบันไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่มีการสื่อสารต่อประชาชนมากพอ นอกจากนี้วิธีการการทำงานในฝ่ายของเจ้าหน้าที่รัฐเองที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งการขาดองค์กรหลักในการหนุนเสริมการพูดคุยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดสะท้อนถึงความไม่จริงจังของรัฐมากพอในการดำเนินการพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้
ที่มา เอกสารประกอบ งานประชุมวิชาการมุสลิมศึกษาระดับชาติครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านของสังคมมุสลิมในสังคมไทย ในรอบ 100 ปี”