เลือกตั้ง66 : จับสัญญาณเลือกตั้งชายแดนใต้
ที่มา https://thecitizen.plus/node/78889
สนามเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส ที่ถูกโอบล้อมด้วยกฎหมายพิเศษจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมายาวนาน เป็นพื้นที่ที่นโยบายความมั่นคงแทรกผ่านวิถีชีวิตของผู้คน ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง รวมถึงกระแสการแก้ปัญหาในแนวทางสันติภาพหรือการพูดคุยสันติภาพ เป็นข้อท้าทายสำคัญที่จะทำอย่างไร ให้มีความก้าวหน้ามากกว่าเดิม เเน่นอนว่าสมรภูมิการเมืองที่ปลายด้ามขวานตอนนี้ดุเดือดไม่แพ้พื้นทีอื่นในภาคใต้
จากการสำรวจจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ปี 66ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ (จ.ปัตตานี, จ.ยะลา, จ.นราธิวาส, 4 อำเภอ จ.สงขลา) มีจำนวนรวม 1,694,343 คน แต่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายใหม่รวม 194,633 ฅน มีสส.จำนวน 15 คนได้แก่ จ.ปัตตานี 5 คน จ.ยะลา 3 คน จ.นราธิวาส 5 คนและ 4 อำเภอ จ.สงขลา เขต7, เขต8 2 คน (ข้อมูล : สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองข้อมูลแยกตามจำนวนประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เดือนกุมภาพันธ์ 2566)
การเลือกตั้ง66 ที่จะมาถึงนี้ ทีมงานเเลต๊ะเเลใต้ พูดคุยกับ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ถึงบรรยากาศเลือกตั้งชายแดนใต้
การเลือกตั้งรอบนี้ประชาชนตื่นตัวมากแค่ไหน ?
ภาพรวมทั่วประเทศในรอบนี้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก เพราะเป็นเวลา 8 ปีแล้วที่การปกครองภายใต้คณะรัฐประหารนำไปสู่การสืบทอดอำนาจยิงยาวของรัฐบาลปัจจุบัน ความผิดหวัง ความผิดพลาดในการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบันที่ทำหลายอย่างเกิดความผิดพลาด กระแสของการความไม่พอใจมีมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 – 4 ปีที่ผ่านมา กระแสการเรียกร้องหรือว่าความไม่พอใจในด้านต่างๆ เยอะมาก ตั้งแต่หลังช่วงโควิดและหลังโควิด คลื่นของการเมืองสูง แล้วก็ต่อเนื่องหลายๆคลื่น
การสื่อสารเองก็ขยายตัวมากในช่วง 4 -5 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวของพื้นที่การสื่อสารในโซเชียลมีเดียมันไปไกลมาก ลงสู่คนทุกระดับทุกรุ่นทุกวัย เพราะฉะนั้น กระแสของการเมืองลงไปเเบบละเอียดมากในคนทุกกลุ่มเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ความรู้สึกอยากจะมีส่วนร่วมในทางการเมืองจะสูง ส่วนของพรรคการเมืองหรือว่านักการเมืองที่ต่อสู้ ตอนนี้แบ่งขั้วกันยังเห็นภาพชัดในภาพใหญ่ ทั้งฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลหรือคณะผู้มีอำนาจเก่าฝ่ายอนุรักษ์นิยม กับฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง
แต่ความซับซ้อนยิ่งเกิดขึ้น ภายในแต่ละฝ่ายมีการแย่งชิงกัน เช่นพรรคที่เป็นรัฐบาลปัจจุบันภายในเองก็ต่อสู้กันเอง ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมใจสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย เเละพรรคประชาธิปัตย์ ทุกพรรคก็ต่างวิ่งแย่งชิงกันเองสูง มั่นใจว่าตัวเองกลับมา อันนี้ก็จะเป็นการต่อสู้ภายใน หรือแม้พรรคฝ่ายค้านปัจจุบันสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตย อย่างพรรคเพื่อไทยมีความได้เปรียบอยู่กระแสขาขึ้น แต่ขณะเดียวกันพรรคก้าวไกลเองก็ดีดตัวขึ้นมาพยายามที่จะแย่งชิงในพื้นที่ การต่อสู้แข่งขันกันเองเเบบนี้ ก็กระตุ้นความสนใจของประชาชน แล้วก็กระตุ้นการมีส่วนร่วมสูงมาก
นิวโหวตเตอร์คลื่นลูกใหญ่มีผลต่อการเลือกตั้ง ?
ผมคิดว่า 8 ปี จำนวนนิวโหวตเตอร์ หลายล้านคนของพื้นที่ทั้งหมดของการลงคะแนนเสียงอาจจะประมาณสักหนึ่งใน 3 นิวโหวตเตอร์ มีความแอคทีฟเรื่องของการมีส่วนร่วมสูง เเน่นอนว่าพวกเขาจะเข้าร่วมโหวตลงคะแนนเสียง ส่วนคนรุ่นเก่า รุ่นกลาง หรือคนสูงวัย การโหวตหรือไม่โหวตมันยังไม่แน่นอนว่าเขาจะมาร่วมโหวตมากน้อยขนาดไหน แต่นิวโหวตเตอร์ร้อยละ 80 เขามาแน่ๆซึ่งเป็นกลุ่มก้อนที่เข้มแข็งมากเเละมีหลากหลายกลุ่มที่ตื่นตัวสูง
เพราะฉะนั้นเป็นแฟคเตอร์ใหม่ๆที่จะทำให้เปลี่ยนผลของการเลือกตั้งได้ ฐานของการเลือกตั้งไม่ใช่เพียงแค่ฐานพื้นที่แง่ของทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นฐานกลุ่มทางสังคมที่แยกย่อยออกไป
- หากดูจากข้อมูล เมื่อเปรียบเทียบในภาคใต้ จังหวัดที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่มีสัดส่วนมากที่สุด อันดับ 1 ปัตตานี ร้อยละ 12.25 อันดับ 2 ยะลา ร้อยละ 11.53 อันดับ 3 นราธิวาส ร้อยละ 11.38 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในแต่ละจังหวัด
- จังหวัดที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เจเนอเรชั่น Z ที่มีสัดส่วนมากที่สุด อันดับ 1 ปัตตานี ร้อยละ 19.59 อันดับ 2 ยะลา ร้อยละ 18.49 อันดับ 3 นราธิวาส ร้อยละ 18.34 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในแต่ละจังหวัด
- จังหวัดที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เจเนอเรชั่น Y ที่มีสัดส่วนมากที่สุด อันดับ 1 นราธิวาส ร้อยละ 34.74 อันดับ 2 ปัตตานี ร้อยละ 34.22 อันดับ 3 ยะลา ร้อยละ 34.22 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในแต่ละจังหวัด
ในสนามชายแดนใต้จุดแข็งอะไร ที่คนในชายแดนใต้มองหา ?
ในพื้นที่ภาคใต้หลายพื้นที่มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น คะแนนเสียงที่มาเเรงในตอนนี้ ก็คือพรรคประชาชาติ ที่ได้ที่นั่งประมาณครึ่งหนึ่งของที่นั่งทั้งหมดของสส.ในชายเเดนใต้ในครั้งที่แล้ว ทางพรรคประชาชาติค่อนข้างจะมั่นใจ ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้ที่นั่งมากกว่าเดิม อาจมีความเป็นไปได้มากเหมือนกัน เพราะในแง่ของฐานเดิมของพรรคประชาชาติ ชูเรื่องส่งเสริมวัฒนธรรมมลายู ประเด็นที่ถูกเน้นของพรรคประชาชาติเองก็เป็นประเด็นที่เน้นในเรื่องของอัตลักษณ์ ชาตินิยมความเป็นคนมลายู ซึ่งเป็นจุดที่แข็งอยู่แล้ว อีกด้านนึงพยายามเสนอแนวทางเรื่องของประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมสูงขึ้น ผมคิดว่าน่าจะมีผลในการดึงคะแนนเสียงจากประชาชนได้จำนวนมากในพื้นที่ได้
ส่วนพรรคอื่นๆ อย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทยหรือแม้แต่พรรครวมใจสร้างชาติ ก็พยายามเบียดแย่งชิงขึ้นมา พรรคประชาธิปัตย์ ก็พยายามที่จะเรียกคืนนะสถานภาพเดิมของตัวเองที่เคยมีเสียงจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ แต่เข้าใจว่าฐานเดิมของพรรคประชาชาติน่าจะได้เปรียบมากกว่า ถ้าดูจาก สส. เก่าส่วนใหญ่ยังอยู่ เชื่อว่าไม่มีผลอะไรในเรื่องของฐานการเมืองเดิม ระบบหัวคะแนนเขาก็ยังมีความมั่นใจอยู่ แต่ยังมีข้อท้าทายคือเขตเลือกตั้งใหม่ประมาณ 2 เขต น่าจะเป็นจุดที่แย่งชิงกัน
กระแสในเรื่องของการแก้ปัญหาโดยแนวทางสันติภาพหรือการพูดคุยสันติภาพ เป็นวาระหลักในการแก้ไขปัญหา จะทำอย่างไรจะให้มีความก้าวหน้ามากกว่าเดิม มีผลเป็นรูปธรรม ทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาที่เป็นตัวประเด็นหลักของเรื่อง เขาเรียกว่าประเด็นสารัตถะ เพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง ของการพูดคุยสันติภาพ เช่นเรื่องของการหยุดยิง ยุติความรุนแรง กฎอัยการ เราจะเป็นพรก. ฉุกเฉินจะแก้ยังไง ใช่ มีประเด็นเรื่อง Public Consultation ในกระบวนการสันติภาพ การพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ โดยฝ่ายที่ขัดแย้งกัน การเปิดเวทีการพูดคุยกันสานเสวนาระดับพื้นที่ ก็จะมากขึ้น ผ่านกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอประเด็นเรื่องของการหาทางออก การกระจายอำนาจ รูปแบบปกครองแบบใหม่ที่จะเอามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง
ส่วนภาคใต้ตอนบนหรือว่าภาคใต้โดยทั่วไปก็จะมีประเด็นเรื่องแนวทางการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการสภาพแวดล้อมการท่องเที่ยว แนวทางการพัฒนาแบบแบบพึ่งตัวเองแบบยั่งยืน กระแสพวกนี้ก็จะเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ
มองรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง กระบวนการสันติภาพจะเป็นอย่างไร ?
ทุกวันนี้ทิศทางมันก็ไปในทางไปในทางดีขึ้น การหนุนเสริมจากแนวนโยบายของรัฐบาลของมาเลเซียซึ่งเป็นใกล้ชิดกับปัญหามาก แล้วก็พยายามผลักดัน ในส่วนนี้ในส่วนของจากจากมาเลเซีย จากผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซียที่เข้ามาช่วยเยอะมากในตอนหลังมีข้อตกลงเงื่อนไขต่างๆมีการวางโรดแมปมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติชัดเจนขึ้น ว่าจะแก้ไขปัญหายังไง ร่วมมือกันยังไง
ผมเข้าใจว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง มาจะมีส่วนผลักดันให้กระบวนการสันติภาพไปข้างหน้ามากขึ้น ปลดล็อคลดเงื่อนไขหลายอย่างที่ก่อให้เกิดจากความขัดแย้ง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการสันติภาพ ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง หรือว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาชนยอมรับไม่ได้ อันนี้มันจะเปลี่ยนไป ส่วนแนวทางการเมืองก็จะชัดมากขึ้นในการแก้ปัญหา
หากว่าเป็นรัฐบาลที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยเช่นพรรคเพื่อไทย มองว่าการจัดการเรื่องกระบวนการสันติภาพจะดีขึ้นดีขึ้น เพราะว่าเคยจัดการมาก่อนในช่วงก่อนหน้านี้ ก็น่าจะสานได้เเข็งเเรงมากขึ้นได้
การเลือกตั้งรอบนี้ จะไปไกลถึงการเมือง “สังคมล้อมรัฐ” ?
ตัวแปรที่สำคัญคือแรงกดดันจากประชาชน เพราะการตื่นตัวของคนข้างล่างก็จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น สามารถแปลงไปสู่พลังในทางการเมืองในระบบตัวแทน องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรอิสระต่างๆจะแตกตัว เป็นพลังที่เข้มแข็งมาก
ผมเชื่อว่าเราจะอยู่ในภาวะการเมืองแบบ”สังคมล้อมรัฐ” จะอยู่ภายใต้การตรวจสอบและควบคุมมากขึ้น ตรงนี้จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ว่ามันความคลี่คลายมากขึ้นในหลายประเด็น
เชื่อว่าผลการเลือกตั้งคราวนี้ มันจะเป็นจุดเปลี่ยนเหมือนกัน จุดเปลี่ยนที่ว่า…ก็มีคำถามที่ตั้งว่า “เสียงของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยจะมั่นใจว่าน่าจะชนะได้ในแง่ของจำนวน แต่ว่าจะพอเพียงจะไปเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดรัฐบาลได้หรือไม่ การคาดการณ์ผลในระบบปกติที่ชนะแล้วได้เลย มันไม่ใช่แบบนั้น”
เพราะยังมีหลายปมเงื่อนที่ท้าทายอยู่ ว่าจะเอาชนะต้องรวมกันแล้วต้องมากกว่า 300 เสียงขึ้นไป จะรวมไปถึงหรือไม่ ? ที่จะเอาชนะฝ่ายรัฐบาลเดิม เเน่นอนมีปมที่ท้าทายอยู่มาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีกระแสการตื่นตัวของประชาชนที่จับตาสูง
ผมคิดว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งคราวนี้ จะอยู่ภายใต้กระแสของประชาธิปไตย เเละระบบการเมืองเเบบเปิดมากขึ้น การกระจายอำนาจ การเคารพสิทธิเสรีภาพ เเละความเสมอภาค จะสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะแข็งเเรงมากขึ้น เเละเป็นตัวแปรหลักไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามา จะต้องอยู่ภายใต้กระแสอันนี้แฟคเตอร์นี้ ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยกระแสการมีส่วนร่วม กระแสการกระจายอำนาจ ความโปร่งใส ความพยายามในการแก้ไขจุดอ่อนของโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ กฎหมาย รัฐธรรมนูญ จะมีผลมากในแง่ของนโยบายทางการเมือง