นักวิจัย ม.อ. ร่วมระดมสมองจัดทำทิศทางงานวิจัยในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

IPS – CSCD

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมปริชญากร สำนักงานวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สถาบันสันติศึกษา ร่วมกับ งานส่งเสริมการวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำทิศทางการวิจัยจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมีคณาจารย์ นักวิจัย เจ้าหน้าประสานงานวิจัยจากหลากหลายคณะทั้งจากวิทยาเขตปัตตานีและวิทยาเขตหาดใหญ่เข้าร่วมประชุม

มีการกล่าวต้อนรับและแนะนำโครงการ โดย รศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา การบรรยายแนวทางการวิจัยของวิทยาเขตปัตตานีโดย ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี การนำเสนอภาพรวมการวิจัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ของมหาวิทยาลัยที่ผ่านมาโดย ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ รองผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา และชี้แจงกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความขัดแย้งและสันติศึกษา สถาบันสันติศึกษา 

โดยกระบวนการมีการแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 3 กลุ่ม ตามความสมัครใจของผู้เข้าร่วม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างรายได้ แก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการโดย ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว และอาจารย์อุสมาน หวังสนิ กลุ่มที่ 2 ประเด็นสังคม การศึกษา ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม การยกระดับคุณภาพชีวิต การสาธารณสุขและสุขภาวะ การช่วยเหลือเยียวยา ดำเนินการโดย อาจารย์ฟารีดา ปันจอร์ และ ดร.นิวดี สาหีม กลุ่มที่ 3 ประเด็นความมั่นคง การเมืองการปกครอง ความยุติธรรมและสันติภาพ การสื่อสารเพื่อสันติภาพ ดำเนินการโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และคุณอิมรอน ซาเหาะ

การประชุมกลุ่มย่อยผู้เข้าร่วมประชุมในแต่ละกลุ่มจะระดมความเห็นและวิเคราะห์ SWOT การวิจัยทั้ง 3 ด้าน/กลุ่ม โจทย์สำคัญคือ อะไรคือจุดแข็ง (S) จุดอ่อน (W) โอกาส (O) อุปสรรค (T) การวิจัยของมหาวิทยาลัยในการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยประเด็นที่ได้ในแต่ละด้าน รวมทั้งกลไกการสนับสนุนการวิจัยและการใช้ประโยชน์

ผู้ร่วมประชุมในแต่ละกลุ่มได้มีการให้น้ำหนักความสำคัญของแต่ละประเด็นและออกแบบทิศทางการวิจัยจนสรุปออกมาเป็นประเด็นยุทธศาสตร์การวิจัยในแต่ละด้าน ทั้งนี้ คณะทำงานจะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้ไปจัดทำรายงานเพื่อใช้สำหรับการจัดทำข้อเสนอทิศทางงานวิจัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต่อไป