ขอแสดงความยินดีกับสถาบันพระปกเกล้าและเครือข่ายวิชาการ Peace Survey ที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ

PS

ขอแสดงความยินดีกับสถาบันพระปกเกล้าและเครือข่ายวิชาการ Peace Survey 24 องค์กร ในโอกาสที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ระดับดี ประจำปี 2565 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) จากสำนักงานก.พ.ร.  จากผลงาน “การสร้างเครือข่ายสันติภาพในชายแดนใต้”

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 สถาบันพระปกเกล้า รับเลิศรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี จำนวน 2 รางวัล  ได้แก่

1. รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม “ระดับดี” ประเภทเลื่องลือขยายผล (Participation Expanded) ได้แก่ โครงการปฏิบัติการเสริมสร้างพลังพลเมือง (Citizen Empowerment for Healthy Democracy : KPI-CE) โดย สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง จากศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดสกลนคร และ จังหวัดเลย

2. รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม “ระดับดี” ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ได้แก่ การสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ : Peace Survey โดย สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล

โดยมีนายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า รับมอบรางวัลแบบออนไลน์ พร้อมด้วย นางสาวสุพรรณี งามวุฒิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ นายณัฐพงศ์ รอดมี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง และนายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2565  พร้อมมอบนโยบายและทิศทางการพัฒนาระบบราชการ

ซึ่งรางวัลเลิศรัฐ ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานที่พัฒนาคุณภาพการให้บริการ ระบบการบริหารงาน และสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งนี้ สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักงานเลขาธิการดำเนินการเข้าร่วมนำเสนอโครงการปฏิบัติการเสริมสร้างพลังพลเมือง และการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ : Peace Survey อันเป็นที่ประจักษ์ในกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่สอดคล้องกับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการบนพื้นฐานความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง