"สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเริ่มที่เด็กปฐมวัย" วงเสวนาปิดโครงการวิจัย

ปฐมวัย

 

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานเปิดกิจกรรม OPEN HOUSE โรงเรียนสาธิต สู่ความเป็นต้นกล้าสันติภาพ โดยความร่วมมือของหลักสูตรคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยกัลยาณมิตรในพื้นที่  

ผศ.ดร.จิรภรณ์ มั่นเศรษฐวิทย์ อาจารย์หลักสูตรปฐมวัย คณะครุศาตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า โครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาต้นแบบนโยบายการศึกษาบนฐานกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะเชิงสันติภาพที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นโครงการวิจัยย่อยที่ 3 ภายใต้ชุดโครงการวิจัย "การพัฒนาองค์ความรู้และต้นแบบนโยบายบูรณาการด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สันติภาพ และยุติธรรม เพื่อสร้างสมานฉันท์และการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยมี ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี เป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัย นับเป็นการวิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้นในความร่วมมือระหว่างสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ภายในงานประกอบด้วยการแสดงความสามารถของนักเรียน เช่น การแสดงรักกันไว้เถิด ระบำตารีกีปัส การจัดนิทรรศการแสดงผลงาน การมอบเกียรติบัตรให้กับหนูน้อยนักสันติภาพ โดยคัดเลือกจากเด็กนักเรียนที่ให้ความร่วมมือเข้าเรียนออนไลน์ และมอบเกียรติบัตรให้คุณครู ตลอดจนมีการเสวนาหัวข้อ สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเริ่มที่เด็กปฐมวัย โดยงานดังกล่าวนี้ถือเป็นการปิดโครงการย่อยที่ 3 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ดร.พระโสภณ ธรรมมุนี เจ้าอาวาสวัดนิโรธสังฆาราม หนึ่งในวิทยากรร่วมเสวนาได้กล่าวถึงเรื่องราวการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายว่า ครูเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาคนจากที่ไม่รู้ให้รู้ มองการณ์ไกล  เป็นแบบอย่างให้กับเด็ก  ให้เด็กรู้จักรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม รักตัวเองและไม่เบียดเบียนผู้อื่น

ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี มองในเรื่องของคำนิยาม “สันติภาพ” จากโครงการและนิทานที่ทุกคนที่รับชมไป จะเห็นได้ว่า นิทานแสดงให้เห็นว่าสันติภาพคือ การรักกัน ไม่เกลียดกันในความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นระหว่างสัตว์-สัตว์ สัตว์-คน ทั้งหมดเริ่มจากจิตใจที่สงบสุข รักผู้อื่น เห็นอกเห็นใจกัน

โดย ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ รองผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์ กล่าวเสริมว่า การเห็นอกเห็นใจกัน คือการเห็นคนอื่นสำคัญพอๆ กับที่เห็นตัวเอง เห็นว่าทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นมนุษย์เหมือนกัน จากนิทานจะเห็นว่าการเจอกันครั้งแรกยังไม่คุ้นเคยกัน ไม่รู้จักกัน พอได้ทำความรู้จักก็จะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกัน จากโครงการนี้จะเห็นในมุมที่เด็กมีสมาธิ และกล้าแสดงออก ซึ่งไม่ใช่สันติภาพในมุมของความเป็นวิชาการหรือเป็นเรื่องการเมืองอย่างที่มองๆกัน แต่เป็นในมุมของ Peaceful mind  เป็นสันติภาพจากภายในจิตใจที่เริ่มจากเด็ก

ส่วน ผศ.ดร.จิรภรณ์ มั่นเศรษฐวิทย์ มองว่าโครงการนี้ในสถานการณ์โควิด สำเร็จได้เพราะมีผู้ปกครองและผู้บริหารให้ความช่วยเหลือ โดยหากโรงเรียนสามารถนำไปต่อยอดได้ก็จะเป็นความสำเร็จสูงสุดของโครงการนี้

ผศ.ดร.กฤษฎา กุณฑล จากคณะครุศาสตร์ ชื่นชมในการทำงานของ ผศ.ดร..จิรภรณ์ และผู้บริหารโรงเรียนที่ยอมรับแนวคิดนี้เพื่อทดลองใช้ในโรงเรียนของตัวเอง และคุณครูที่ทุ่มเทเวลาและตั้งใจทำการเรียนการสอน ผลิตสื่อการสอนในสถานการณ์แบบนี้

ทางด้าน รศ.ดร.ศิษฎ์ธวัช มั่นเศรษฐวิทย์ จากคณะวิทยาการจัดการ และนักวิจัยร่วมในโครงการวิจัย กล่าวถึงตนเองที่ทำงานในสายของการจัดการ ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าจะเกิดสันติภาพในเด็กได้อย่างไร จนกระทั่งมาเห็นกิจกรรมที่ทำเด็กเกิดสันติภาพในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำสมาธิ การออกกำลังกาย การแบ่งปัน ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานที่ดีให้กับเด็ก

ผศ.ดร.มูหัมมัดตอลาล แกมะ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต ม.ราชภัฎยะลา เชื่อว่าสันติภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนโหยหาย แต่ก่อนจะมีสันติภาพเราต้องมีสันติสุขก่อน เพื่อจะได้เป็นสันติภาพที่ยั่งยืน คือ ต้องมีความสุขก่อน  ความสุขจะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน

ด้าน อ.อรวรรณ เรืองหิรัญ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลเบตง มองว่าการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ โครงการนี้สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ สอนให้เห็นถึงการดำเนินชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย เข้าใจบริบทพื้นที่/ศาสนา อยากให้มีการต่อยอดหลักสูตรในหลักสูตรแกนกลาง

อ.วรัญญา เฟื่องฟูขจร ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลปาดังเบซาร์ กล่าวว่า โครงการนี้เห็นถึงการที่ครูเป็นแบบอย่าง สร้างความสุขให้ตัวเองผ่านการสอน แล้วเด็กจะเห็นเอง และขอรูปแบบการเรียนการสอนอันนี้ไปใช้ คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ว่าจะเป็นระหว่างครูกับครู ครูกับผู้ปกครอง ครูกับเด็ก การรู้จักตัวตนของเรา รู้ถึงความแตกต่างและการยอมรับ โดยอยากให้โครงการนี้มีการต่อยอดในระดับมัธยม/อุดมศึกษา

อ.สาวิตรี แก้วจินดา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะแลหนัง กล่าวว่า โครงการนี้ทำให้เห็นว่าเด็กเข้าใจตนเองมากขึ้น เข้าใจธรรมชาติของความแตกต่าง อยู่ร่วมกับเพื่อนในห้องเรียน ครูในโรงเรียน และผู้ปกครองได้

อ.มารีน่า สะนี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านศรีท่าน้ำ มองว่าโครงการนี้ทำให้เห็นการมีส่วนร่วมระหว่างครูกับผู้ปกครอง เห็นความมุ่งมั่นในการผลิตสื่อ/หลักสูตรของโครงการ

ด้านตัวแทนผู้ปกครอง มองถึงเรื่องประโยชน์จากโครงการ/หลักสูตรนี้ในหลายๆ ด้าน เช่น มีการสอนเรื่องการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง เป็นการปูพื้นฐาน หรือการที่เด็กรู้จักการจัดการอารมณ์ตนเอง มีเหตุผล รู้จักคุณค่าของตนเองและผู้อื่น เรียนรู้และต่อยอดการเรียนรู้ รู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อออกไปข้างนอกในสถานการณ์โควิดไม่ว่าจะเป็นการล้างมือหรือสวมแมสก์ตลอดเวลา การรู้จักสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยผู้ปกครองได้ชื่นชมครูผู้สอนที่สามารถทำกิจกรรมได้ครบ ในส่วนของข้อจำกัดก็พบบ้าง อาทิ สัญญาณโทรศัพท์ที่ไม่ค่อยดี ผู้ปกครองที่ไม่มีเวลาเรียนกับลูก อาจทำให้ลูกเล่นเกมส์แทนที่จะตั้งใจเรียน

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี กล่าวทิ้งท้ายถึงโครงการวิจัยดังกล่าวนี้ว่าถือเป็นการปูพื้นฐานให้กับเด็กปฐมวัยเพื่อให้เกิดสันติภาพ เป็นการสร้างงานเพื่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง