สถาบันสันติศึกษา ม.อ. จับมือ คณะครุศาสตร์ มรย. ร่วมขับเคลื่อนหนุนเสริมสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ผ่านกระบวนการด้านการศึกษาในระดับปฐมวัย

สันติภาพปฐมวัย

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงเรียนอนุบาลเบตง (สุภาพอนุสรณ์) อ.เบตง จ.ยะลา โครงการวิจัยพัฒนาต้นแบบนโยบายกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะเชิงสันติภาพที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ชุดโครงการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้และต้นแบบนโยบายบูรณาการด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สันติภาพ และยุติธรรม เพื่อสร้างสมานฉันท์และการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้จัดกิจกรรมการมอบเกียรติบัตรแด่โรงเรียนอนุบาลเบตง (สุภาพอนุสรณ์) ที่ได้รับการรับรองให้เป็นหน่วยปฏิบัติการวิจัยต้นแบบ นำหลักสูตรสันติศึกษาระดับปฐมวัยและรูปแบบ PEACE ไปใช้กับเด็กปฐมวัย ได้ประสบผลสำเร็จในระดับ “ดีเยี่ยม” พร้อมด้วยรางวัลครูปฐมวัยนักสันติภาพต้นแบบ ได้แก่ คุณอัสมา แมเราะ และคุณลัดดา ดือราแม นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง มีการแสดงความสามารถของนักเรียน และมีการจัดนิทรรศการสันติภาพผลงานจากนักเรียนปฐมวัย โดยมี รองนายกเทศมนตรีเมืองเบตง ตัวแทนเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ตัวแทนคุณครู ตัวแทนผู้ปกครอง นักเรียนในระดับปฐมวัยเข้าร่วมในกิจกรรมในครั้งนี้

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี หัวหน้าชุดโครงการวิจัยฯ ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการวิจัยดังกล่าวนี้ โดยถือว่าโครงการวิจัยเป็นการบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาปัญหาจังหวัดชายแดนใต้อย่างยั่งยืน โครงการวิจัยได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสันติภาพในเด็กปฐมวัย โดยที่มาที่ไป ตนเองเคยที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของหัวหน้าโครงการวิจัยสมัยเรียนปริญญาเอก ซึ่งเมื่อ ผศ.ดร. จิรภรณ์ มั่นเศรษฐวิทย์ ได้ต่อยอดมาเป็นโครงการวิจัย ตนเองก็ได้คลุกคลีกับงานพัฒนาสันติภาพ/สันติสุขในแง่ของงานปฐมศึกษาและสันติศึกษา ถือเป็นก้าวใหม่ของการสร้างสันติภาพในเด็กปฐมวัย

ผศ.ดร. จิรภรณ์ มั่นเศรษฐวิทย์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการวิจัยเริ่มจากที่ตนเองตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้เกิดสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านกระบวนการด้านการศึกษา โดยเริ่มที่เด็กปฐมวัย ซึ่งเราจะไม่พูดเรื่องสงครามกับเด็ก ทว่าจะเน้นสันติภาพที่เกิดขึ้นได้จริง ประเมิน 5 ด้าน การมีสมาธิ การอยู่ร่วมกันในความหลากหลาย (สังคมพหุวัฒนธรรม) อยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำรงชีวิตในวิถีชีวิตใหม่ (new normal) การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี

รศ.ดร.ศิษฎ์ธวัช มั่นเศรษฐวิทย์ นักวิจัยร่วมในโครงการวิจัย กล่าวว่า ความพร้อมของโรงเรียนอนุบาลเบตง เริ่มต้นจากผู้บริหารให้การสนับสนุนโครงการ คณะครูทุ่มเทเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการสอนออนไลน์ ผู้ปกครองให้คำแนะนำ/เรียนรู้ไปกับลูก เริ่มต้นจากสันติภาพในตัวเอง การฝึกสมาธิ จิตสาธารณะ ช่วยเหลือครอบครัว สันติภาพต่อสังคม ช่วยเหลืองานสังคม สิ่งแวดล้อม การเก็บขยะ

ด้าน อ.อรวรรณ  เรืองหิรัญ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลเบตง กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนในสถานศึกษานั้น หัวใจสำคัญคือผู้ปกครอง คุณครู เด็กๆ  เริ่มด้วยประขุมบุคลากร ผู้ปกครอง ศึกษางานวิจัย ต้องดำเนินการอย่างไร วิเคราะห์ปัจจัยภายใน-ภายนอก เชิญบุคลากรสำนักงานเขต สร้างวิสัยทัศน์ พันธกิจ ในการขับเคลื่อนงานนี้ ทำ MOU คิดหลักสูตร หน่วยการเรียนรู้ 7 หน่วย (7 กิจกรรม) วิเคราะห์การเรียนการสอน (ปัญหา และการแก้ไข) บ้านเป็นหัวใจสำคัญสุดในการขับเคลื่อนหลักสูตรในวิถีใหม่ ร่วมคิดในการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมทำ (ครู ผู้ปกครอง) ร่วมกันแก้ปัญหา (ระดมความคิด ช่วยกันแก้ปัญหา) เสริมทักษะชีวิต สร้างนวัตกรรมสื่อร่วมกัน และตอบยุทธศาสตร์ชาติ

คุณขนิษฐา ลีเมาะ ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียน ได้ให้ความคิดเห็นในการนำหลักสูตรสันติศึกษามาพัฒนาเด็ก ว่าเน้นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ช่วงโควิดเรียนออนไลนที่บ้าน แจ้งความจำนงค์ขอเข้าร่วมหลักสูตร ทำให้ครู ผู้ปกครองเด็ก มีปฏิสัมพันธ์ เหมาะกับสังคมพหุวัฒนธรรม การทำชิ้นงานช่วยกันทำทั้งครอบครัว เช่น ชิ้นงานใบไม้ร่วงหล่น ช่วยกันเก็บใบไม้ ช่วยกันคิด/ประดิษฐ์ ภูมิใจที่มีโอกาสเป็นผู้ช่วยคุณครู โดยก่อนหน้านี้ ลูกจะซนมากๆ แต่กิจกรรมทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ มีกิจกรรมทำ เช่น การทำสมาธิ การทำชิ้นงาน

ด้าน คุณสุชาติ เอกประชา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 3 กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือของโรงเรียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การใช้พื้นที่เป็นฐาน การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพมากกว่าทำงานคนเดียว การขับเคลื่อนโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นเครือข่าย การใช้สื่อออนไลน์ ผู้ปกครองมีส่วนร่วม ครู

ส่วนครูพิชญา พิทยาเกษม กล่าวในมุมมองของผู้ปฏิบัติในการเอาหลักสูตรไปใช้ในการเรียนการสอน โดยได้ขอบคุณผู้ปกครอง ที่ช่วยในเรื่องการสื่อสารกับผู้ปกครองเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ตลอดจนผู้ปกครองที่คอยสนับสนุนส่งเสริมการนำไปปฏิบัติ ถ่ายคลิปพูดถึงความประทับใจต่อผลงานตัวเอง