Patani NOTES รายงาน "ผลักดันผู้เกี่ยวข้องสานต่อกระบวนการสันติภาพ นักวิชาการชี้ล่าช้าเกินไป"

AJ Sri

 

Patani NOTES รายงานข่าว : ท่ามกลางปัญหาการระบาดของโควิดและกระบวนการที่ชะงักงัน องค์กรวิชาการและการศึกษาของไทยและมาเลเซีย ได้พยายามกระตุ้นความสนใจในกระบวนการสันติภาพภาคใต้ ด้วยการจัดเสวนาเมื่อปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อที่พวกเขาเรียกความขัดแย้งในภาคใต้ว่า “ความขัดแย้งที่ถูกลืม” หลังการเสวนา พวกเขาเรียกร้องให้มีการสานต่อกระบวนการสันติภาพโดยทันทีแม้ว่าจะมีการระบาดของโควิดก็ตาม

Bait Al-Amanah หน่วยงานวิจัยของมาเลเซีย กับ Nahel Endowment for Peace องค์กรในเครือที่ทำงานด้านสันติภาพ และ People’s College หรือวิทยาลัยประชาชนที่ทำงานด้านให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วไปในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ร่วมกันจัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ Southern Thailand: Prospect for Peace in a Forgotten Conflict ทางช่องทางออนไลน์เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิชาการที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าติดตามเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ของไทยต่างเข้าร่วม และพวกเขาเห็นว่า กระบวนการสันติภาพภาคใต้ของไทยล่าช้าถ้าจะให้เดินหน้าต่อได้ต้องรีบสานต่อ

ใบแจ้งข่าวของ Bait Al-Amanah กับ Nahel Endowment for Peace และวิทยาลัยประชาชนเสนอให้มีการดึงให้ฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วม รวมทั้งตอกย้ำเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้มีส่วนสำคัญในกระบวนการสันติภาพนี้

นักวิชาการที่ร่วมวงคุย ได้ถกเถียงปัญหาที่ทำให้กระบวนการสันติภาพสำหรับสามจังหวัดภาคใต้ของไทยชะงักว่า ส่วนหนึ่งเพราะการระบาดของโรคโควิด  แต่เห็นว่ายังมีปัจจัยมากกว่านั้น ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก ผู้อำนวยการสถาบัน Nordic Institute of Asian Studies เห็นว่า กระบวนการพูดคุยระหว่างไทยและบีอาร์เอ็น รวมถึงการกระจายอำนาจ ไม่เพียงแต่ชะงัก แต่ว่าถอยหลังอีกด้วย

ใบแถลงข่าวกล่าวถึงสถานการณ์เวลานี้ว่า แม้จะดูสงบ แต่ปัญหาแท้จริงไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาที่ ศ.ดร.แมคคาร์โกบอกว่า เป็นปัญหาการเมืองที่ต้องการวิธีการทางการเมืองเข้ารับมือ

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา และผู้อำนวยการดีพเซาท์วอชเปิดเผยในวงเสวนาว่า จากการสำรวจความเห็นพบว่า ผู้คนร่วม 70% ในพื้นที่รู้สึกว่าสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ยังคงย่ำอยู่ที่เดิม แม้ว่าจำนวนครั้งของเหตการณ์ความรุนแรงจะลดลงก็ตาม คาดว่า การที่ไม่มีการพูดคุยในกระบวนการสันติภาพที่จะดึงความสนใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไปได้นั้น ทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว

ส่วน ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิชาการอิสระที่ศึกษาเรื่องความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้ รวมทั้ง ศ.ดร.กามารูลนิซาม อับดุลเลาะฮฺ มหาวิทยาลัยอูตารามาเลเซีย ต่างพูดถึงความจำเป็นในอันที่จะต้องกระตุ้นให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม รุ่งรวี เห็นว่า นักวิชาการควรช่วยส่งเสียงให้กับคนในพื้นที่ เช่นด้วยการทำโพลเกี่ยวกับสันติภาพ ส่วน ศ.ดร.กามารูลนิซาม เห็นว่า ควรจะให้บทบาทภาคประชาสังคมในการสร้างความเชื่อมั่นของชุมชนเพื่อให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วม เพราะในขณะนี้กลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นผู้มีบทบาทหลัก

ศ.ดร.กามารูลนิซามยังกล่าวถึงบทบาทของมาเลเซียที่ขณะนี้เป็นผู้อำนวยความสะดวกว่ามาเลเซียมีอุปสรรคคือมีการเปลี่ยนแปลงภายในที่กระทบไปถึงการทำงานสานต่อกระบวนการ นอกจากนั้นยังมีปัญหาว่า ใครเป็นผู้นำในกระบวนการอำนวยความสะดวกนี้ รวมไปถึงประเด็นที่ว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นต้องการผู้อำนวยความสะดวกที่ไม่ได้มาจากงานด้านความมั่นคง ทั้งหมดนี้ทำให้มาเลเซียมีปัญหาในการนำพาผู้เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการพูดคุย

ดังนั้นสามองค์กรดังกล่าวที่เป็นผู้จัดเสวนาระบุว่า พวกเขาเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกระตุ้นการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ขณะที่ผลักดันผู้มีส่วนร่วมหลักให้ยืนยันเจตนารมณ์ทางการเมืองโดยเร็ว เพื่อให้กระบวนการสันติภาพนี้เดินหน้าได้  ทั้งสามกลุ่มเรียกร้องให้สานต่อการพูดคุยสันติภาพภาคใต้ของไทยโดยทันทีแม้ว่าจะมีการระบาดของโควิดก็ตาม

#สันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

#การพูดคุยสันติภาพ

ที่มา Patani Notes