การศึกษาความสัมพันธ์ของการเกิดเหตุความรุนแรงที่ส่งผลต่อสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

Safe school

การศึกษาความสัมพันธ์ของการเกิดเหตุความรุนแรงที่ส่งผลต่อสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อวิเคราะห์หารูปแบบและความสัมพันธ์ของการเกิดเหตุความรุนแรงในสถานศึกษาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การศึกษาครั้งนี้เป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเทพา นาทวี สะบ้าย้อย และจะนะ ในจังหวัดสงขลา และการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data) จากฐานข้อมูลของคณะทำงานฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ในช่วงปี 2547 – 2560 ทำการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา

ผลการศึกษา พบว่า สถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ร้อยละ 37. โดยเป็นโรงเรียนรัฐบาลร้อยละ 55.6 และโรงเรียนเอกชน ร้อยละ 44.4 ส่วนใหญ่จัดการเรียนการสอนแบบสายสามัญ ร้อยละ 64.1 สายศาสนา ร้อยละ 26.4 และสายศาสนาควบคู่สามัญ ร้อยละ 9.4 และประมาณครึ่งหนึ่งจัดการเรียนการสอนในระดับก่อนประถมและประถมศึกษา (ร้อยละ 50.8) ในประเด็นการวิเคราะห์หารูปแบบและความสัมพันธ์ของการเกิดเหตุความรุนแรงในสถานศึกษา พบว่า การก่อเหตุความรุนแรงในสถานศึกษา ระหว่าง ปี 2547 – 2560 มีทั้งสิ้น 1,197 เหตุการณ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 18.00 - 23.59 น. โดยมีรูปแบบการก่อเหตุสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ 1) การวางเพลิง 2) ยิง และ3) การระเบิด ซึ่งผลกระทบจากเหตุการณ์ ส่วนใหญ่ส่งผลให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย ในพื้นที่จังหวัดจังหวัดปัตตานี มีจำนวนเหตุการณ์โดยรวม จำนวนการเกิดเหตุวางเพลิง ยิง และระเบิด สูงที่สุด

เมื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์ความรุนแรงในสถานศึกษากับเหตุการณ์ภาพรวมความรุนแรงในพื้นที่ พบว่า แนวโน้มการก่อเหตุในสถานศึกษาจะสูงในช่วงเริ่มต้นของเหตุการณ์ความรุนแรง ตั้งแต่ปี 2547- ปี 2551 ซึ่งต่างกับเหตุการณ์ความรุนแรงในภาพรวมที่มีสถานการณ์ดีขึ้น สำหรับช่วงเวลาของเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในภาพรวม ส่วนใหญ่อยู่ใน ช่วงเวลา 06.00 - 11.59 น. แต่การเกิดเหตุความรุนแรงในสถานศึกษาสูง คือ ช่วงเวลา 00.00 - 05.59 น. โดยการก่อเหตุในสภานการณ์ความรุนแรงภาพรวม ส่วนใหญ่เป็นการยิง แต่การก่อเหตุในสถานศึกษา ส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์วางเพลิง และการเกิดเหตุความรุนแรงในภาพรวมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส แต่ความรุนแรงในสถานศึกษาของพื้นที่จังหวัดปัตตานี

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา ควรมีมาตรการดูแลความปลอดภัยด้วยการพัฒนาสภาพแวดล้อม ออกแบบและจัดทำระบบรักษาความปลอดภัยมีความรัดกุมและมาตรฐานระดับสากลที่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือหลัก และการให้ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการดูแลความปลอดภัยให้สถานศึกษา ที่เชื่อมโยงกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน นอกจากนี้ ทุกฝ่ายควรร่วมกันผลักดันให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่ไม่มีปฏิบัติการจากทั้งกลุ่มขบวนการ และเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาวต่อครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคม

คำสำคัญ: สถานการณ์ความไม่สงบ, รอมฎอน , กระบวนการสันติภาพ, จังหวัดชายแดนภาคใต้