Critical policy discourse analysis on the conflict resolution in Thailand’s deep South

Aj.Koo Aj.Sri

บทความนี้เป็นการใช้ตัวแบบวิเคราะห์บทสนทนานโยบายเชิงวิพากษ์ (Critical policy discourse analysis) โดยศึกษานโยบายและแผนงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระหว่างช่วงปี 2557 – 2566 จากฐานของแนวคิดที่ว่า บทสนทนาและภาษาทางนโยบายเป็นตัวกำหนดการเพ่งพินิจ (gazing) และกำหนดประเด็นปัญหาโดยผ่านการกำหนดรูปทางภาษา สัญญะ และอนุกรมวิธาน (taxonomy) ซึ่งมีลักษณะเฉพาะเจาะจง เราสามารถเข้าใจถ้อยแถลงและอำนาจวาทกรรมของรัฐต่อการจัดการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ผ่านการศึกษาการก่อตัว ปรับเปลี่ยนและปฏิบัติการทางวาทกรรมของนโยบายการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามประกาศ คสช. ที่ 98/2557 ซึ่งเป็นชุดความคิดที่เน้น“การขับเคลื่อน” การแก้ไขปัญหา ในความหมายทางภาษาที่แท้จริงจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาโดยตัวของนโยบายเอง แต่เป็น “การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้ถูกต้อง” ดังปรากฏคำในภาษาอังกฤษในเอกสารงบประมาณว่า “Mobilization of Problem Rectification”

นอกจากนี้ ในบทความยังได้แสดงถึงพัฒนาการของการก่อตัวทางนโยบายและการตอกย้ำถึง “อำนาจนำ“ ในทางภาษาและวาทกรรมเรื่อง “การบังคับบัญชา”และ “การควบคุม” ต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องมีประสิทธิภาพตามชุดความคิดแบบทหารของรัฐบาลคสช. ภายใต้หลักการ “… บูรณาการนโยบายอย่างเป็นเอกภาพ” และการบริหารงานที่ต้องมี “…. ความประสานสอดคล้อง … ไร้รอยต่อ” และได้กำหนดนโยบายสาธารณะที่มีความแข็งตัวในการสร้างโครงการบูรณาการต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้ากับแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อันเป็นอีกหนึ่งชุดความคิดหลักในการกำกับทิศทางการบูรณาการงานด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนาของทุกภาคส่วนราชการ

ถ้อยแถลงทางวาทกรรม (Statement of Discourse) ที่สะท้อนถึงสิ่งที่“พูด” และ “ถูกพูด”ออกมา ด้วยการกำหนดเป้าหมายของนโยบาย 4 เป้าหมาย 7 แนวทาง[1] และแสดงรูปธรรมของปฏิบัติการทางวาทกรรมผ่านการจัดความสำคัญของแผนงาน โครงการและการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี ให้สอดคล้องกัน รวมไปถึงเทคนิค “การพรางตัว” ในการจัดงบประมาณการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560

แต่ในอีกด้านหนึ่ง จากผลการศึกษาเชิงประจักษ์ ผู้วิจัยก็ค้นพบในอีกด้านหนึ่งว่ามีการโต้กลับทางชุดความคิดและวาทกรรมของภาคประชาชนที่มองแตกต่างจากรัฐ สะท้อนผ่านข้อมูลจากการวิจัยเชิงสำรวจ 3 ชุดข้อมูลในห้วงเวลาต่าง ๆ[2] ดังนั้น เราจึงตีความว่าอำนาจของความจริงโดยรัฐที่ถูกกำหนดผ่านนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้เป็นกระบวนการที่มีพลวัต และส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหารราชการในพื้นที่เพื่อเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและความไม่สงบ แต่กระนั้นก็ตาม อำนาจนั้นก็สามารถูกท้าทายได้ด้วยความเป็นจริงในระดับพื้นที่ ชุมชน และความคิดของประชาชนในระดับรากหญ้า อำนาจนำแม้จะแข็งตัวแต่ก็อาจจะถูกท้าทายได้เช่นกัน.

 

ผู้สนใจสามารถอ่านบทความนี้ได้จากวารสาร Asian Affairs: An American Review ตามลิงค์นี้ F   https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/00927678.2024.2333685?src=exp-la

 

 

[1] เป้าหมายนโยบาย 4 เป้าหมายได้แก่ (1) การมีระบบเฝ้าระวังดูแลความปลอดภัย (2) เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง (3) ประชาชนและชุมชนดำรงชีวิตที่หลากหลายทางวัฒนธรรม (4) ภาคส่วนต่าง ๆ มีความเข้าใจภาครัฐและแนวทางสันติวิธี โดยใน 4 เป้าหมายนั้น ได้กำหนดไว้ 7 แนวทาง ได้แก่ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัย (2) การพัฒนาการอำนวยความยุติธรรมและเยียวยา (3) การเสริมสร้างความเข้าใจปัญหาจชต. (4) การพัฒนาการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม (5) การพัฒนาตามศักยภาพพื้นที่ (6) การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย (7) การเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี

[2] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรีและคณะ. (2561) โครงการติดตามและการประเมินผลการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2560. สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี; กุสุมา กูใหญ่. (2563) การสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อนโยบายการแก้ปัญหาและพัฒนาในจังหวัดชายแดนใต้และการสำรวจความเห็นผู้มีส่วนได้เสียในการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้. กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม; เครือข่ายวิชาการ Peace Survey. (2564) การสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้. (Peace Survey) ครั้งที่ 6.