การสร้างสันติภาพในภาพพจน์เหมารวมอัตลักษณ์มลายู และความห่างทางสังคมของคนรุ่นใหม่ในปัตตานี
โดย
ธนัญกรณ์ หิรัญญ์ไพสิฐกุล สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มะรอนิง สาแลมิง คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ค้นหาแนวทางสร้างสันติจากความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในความแตกต่างและความสัมพันธ์ระหว่างภาพพจน์เหมารวมอัตลักษณ์มลายูกับความห่างทางสังคมของคนรุ่นใหม่ในปัตตานี จากการบ่มเพาะทางสังคม เพศ และศาสนาที่ต่างกัน ศึกษากับนักศึกษามหาวิทยาลัยในปัตตานี จำนวน 320 ราย ใช้แบบประเมินค่าภาพพจน์เหมารวมอัตลักษณ์มลายู (α = 0.820) กับแบบสอบถามวัดความห่างทางสังคมของโบกาดัส (α = 0.927) วิเคราะห์ความแตกต่างและความสัมพันธ์ ผลวิจัยพบว่า 1) การบ่มเพาะทางสังคมจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมีภาพพจน์เหมารวมอัตลักษณ์มลายูที่ระดับแข็งแกร่ง และมีความห่างทางสังคมมากกว่าการบ่มเพาะทางสังคมจากโรงเรียนรัฐ 2) ศาสนาอิสลามมีภาพพจน์เหมารวมอัตลักษณ์มลายูที่ระดับแข็ง และมีความห่างทางสังคมมากกว่าศาสนาพุทธ 3) เพศหญิงมีภาพพจน์เหมารวมอัตลักษณ์มลายูที่ระดับแข็ง และมีความห่างทางสังคมมากกว่าเพศชาย และ 4) ภาพพจน์เหมารวมอัตลักษณ์มลายูมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความห่างทางสังคม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้ง 4 กรณี ประจักษ์ถึงความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่ต่างกันในพื้นที่จากการบ่มเพาะทางสังคมจากโรงเรียน ศาสนา และเพศที่ต่างกัน
ในการสร้างสันติภาพคือหลีกเลี่ยงเจตคติเชิงลบที่คนมลายูรู้สึกถูกกลืนกลายให้เป็นพหุวัฒนธรรมเชิงเดี่ยว เป็นวัฒนธรรมไทยเชิงเดี่ยวจากรัฐ และสังคมมลายูมุสลิมควรปรับลดระดับภาพพจน์เหมารวมอัตลักษณ์มลายูลงในระดับที่เป็นกลางผ่านการบ่มเพาะทางศาสนาอิสลาม
ที่มา วารสารความขัดแย้งและสันติศึกษา สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์