รัฐธรรมนูญ หลักประกันกระบวนการสร้างสันติภาพ ในมินดาเนาและชายแดนใต้ของไทย ?
ฟารีดา ปันจอร์
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
บทคัดย่อ
บทความวิชาการรัฐธรรมนูญ หลักประกันกระบวนการสร้างสันติภาพในมินดาเนาและชายแดนใต้ของไทย? มีเป้าหมายเพื่อที่จะเข้าใจแนวทางการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งในมุมมองที่เกี่ยวข้องระหว่างรัฐธรรมนูญกับกระบวนการสันติภาพ โดยศึกษาเปรียบเทียบพื้นที่ความขัดแย้งบังซาโมโรในมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์กับจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย งานศึกษานี้ใช้การวิเคราะห์เอกสารทางวิชาการ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและข้อมูลบางส่วนจากการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายของโครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการ จากการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบค้นพบว่า ข้อตกลงสันติภาพ ตัวบทรัฐธรรมนูญ โครงสร้างการทำงานเพื่อสันติภาพ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน กรณีศึกษาความขัดแย้งในบังซาโมโรพบว่าในความเป็นจริงแม้จะมีอุปสรรคในการสถาปนาโครงสร้างการเมืองการปกครองในพื้นที่ความขัดแย้งบังซาโมแต่การที่รัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงการมีพื้นที่ปกครองตนเองมินดาเนา ถือได้ว่าเป็นหลักประกันในการผลักดันข้อตกลงสันติภาพให้มีผลในทางกฎหมายที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ขณะที่ความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ที่ยังมีความรุนแรงยืดเยื้อและการบริหารงานพื้นที่ถูกกำหนดผ่านกลไกและหน่วยงานพิเศษอย่างกองอำนวยการรักษาความสงบภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) บทเรียนจากมินดาเนาสามารถเป็นบทเรียนให้กับความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ว่าการแสวงหาทางออกทางการเมืองผ่านกระบวนการจำเป็นต้องมุ่งพิจารณาที่ไปรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมืองที่เกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นโครงสร้างการทำงานเพื่อสันติภาพที่ต้องการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการแสวงหาหลักประกันเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืนในชายแดนใต้
ที่มา วารสารสถาบันพระปกเกล้า