การสอนสันติภาพศึกษาในพื้นที่ความขัดแย้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ฟารีดา ปันจอร์
อาจารย์วิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ยาสมิน ซัตตาร์
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
บทคัดย่อ
บทความวิจัยเรื่อง การสอนสันติภาพศึกษาในพื้นที่ความขัดแย้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีมีเป้าหมายมุ่งเน้นศึกษาพัฒนาการ แนวทางการสอนความรู้เรื่องสันติภาพ ตลอดจนนำผลสะท้อนความคิดเห็นจากการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป 117-114 คิด ทำ นำสุข (Living a Peaceful Life) ในปีการศึกษาที่ 1/2561 เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาตามแนวทางการศึกษาเพื่อสันติภาพ โดยใช้การวิเคราะห์เอกสารการเก็บรวมรวมข้อมูลจากแบบสำรวจความคิดเห็นและการสัมภาษณ์ผู้เรียนและผู้สอน ผลการศึกษาพบว่า 1) การศึกษาด้านสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้มีพัฒนาการจากการปรับใช้ความรู้ด้านสันติวิธีขององค์กรภาคประชาสังคม และก่อตัวเป็นหลักสูตรในมหาวิทยาลัยภายใต้บริบทของนโยบายการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่และการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมในสังคมพหุวัฒนธรรม ส่วนเนื้อหาของรายวิชา คิด ทำ นำสุข ได้ถ่ายทอดมุมมองทั่วไปด้าน “สันติภาพ” ที่มีความหลากหลาย ได้แก่ การเข้าใจหลักคิดในเรื่องของการรู้จักตัวเองและผู้อื่น การเข้าใจความหลากหลายของอัตลักษณ์ การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม การรู้จักความขัดแย้งและการสื่อสารเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ2) ผลการจัดการศึกษาตามแนวทางสันติภาพศึกษาผู้เรียนส่วนใหญ่มีทัศนคติในเชิงบวกต่อเนื้อหาการเรียนการสอน แต่ปรากฏข้อข้อท้าทายหลายประการด้วยกัน อาทิ กรณีศึกษาความขัดแย้งที่จังหวัดชายแดนใต้ ผู้เรียนตั้งคำถามและต้องการเรียนรู้มุมมองด้านอัตลักษณ์ของผู้คนกลุ่มต่างๆในด้านลึก พวกเขามีความต้องการของผู้เรียนในการเรียนรู้จากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง อีกทั้งมีความต้องการกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนที่มีปฏิสัมพันธ์มากขึ้นในชั้นเรียน ข้อค้นพบดังกล่าวสามารถนำมาพัฒนาการเรียนการสอน ได้อย่างสอดคล้องกับแนวทางการศึกษาเพื่อสันติภาพ
ที่มา Journal of Human Rights and Peace Studies