ระเบียบวิธีวิจัย

ระเบียบวิธีวิจัย

1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ประชากรของการสำรวจครั้งนี้ประกอบด้วย ประชาชนทั่วไปและผู้นำความคิด ทั้งไทยพุทธและมุสลิมที่อาศัยอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาในอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย

ประชาชนกลุ่มตัวอย่างเป้าหมายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มประชาชนทั่วไปจำนวน 1,637  ตัวอย่าง และกลุ่มผู้นำความคิด (เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้นำสตรีในชุมชน) จำนวน 220 คน

1.1 พื้นที่ในการศึกษาและกลุ่มตัวอย่าง

การศึกษาครั้งนี้ทำการศึกษาในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และสี่อำเภอในพื้นที่จังหวัดสงขลา อันประกอบด้วยอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ซึ่งทำการสุ่มตัวอย่างโดยหลักวิธีการสุ่มเลือกตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling) หรือการใช้หลักความน่าจะเป็นในทางสถิติเพื่อประกันว่า คนทุกคน จากทุกหน่วยในพื้นที่และประชากรทั้งหมดที่ถูกศึกษาต้องมีโอกาสเท่ากันในการถูกเลือก (the same probability of selection) ทำให้มีความน่าเชื่อถือของความเป็นตัวแทนของกลุ่มตัวอย่างอันจะทำให้ผลการวิจัยสำรวจ มีความคลาดเคลื่อนทางสถิติในระดับที่ยอมรับได้

 

1.2 รายละเอียดขั้นตอนการสุ่มตัวอย่าง

โครงการฯ จะสำรวจครัวเรือนที่ได้จากการสุ่มในพื้นที่สามจังหวัด (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และสี่ อำเภอในจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) จำนวน 164 หมู่บ้าน/ชุมชน หมู่บ้านละ 10 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 1,640 ตัวอย่าง ซึ่งจะสุ่มเฉพาะผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-70 ปี โดยมีขั้นตอนในการสุ่มหาหมู่บ้านเป้าหมายและการสุ่มตัวอย่าง ดังนี้

ขั้นแรก ทำการเลือกตำบลจากอำเภอ 37 อำเภอ ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสี่อำเภอจังหวัดสงขลา ด้วยวิธีการสุ่มแบบมีระบบจากบัญชีรายชื่อตำบล โดยกำหนดจำนวนตำบลตัวอย่างไว้ครึ่งหนึ่งของตำบลทั้งหมดในพื้นที่ จึงได้จำนวนทั้งสิ้น 130 ตำบล

ขั้นที่สอง ทำการสุ่มระดับหมู่บ้าน ด้วยวิธีการสุ่มแบบมีระบบอีกครั้งจากบัญชีรายชื่อหมู่บ้าน/ชุมชนที่อยู่ในตำบลตัวอย่าง 130 ตำบลที่ได้จากขั้นตอนแรก จึงได้จำนวนทั้งสิ้น 164 หมู่บ้าน  

ขั้นที่สาม ทำการสุ่มเลือกครัวเรือนด้วยวิธีการสุ่มแบบมีระบบ หมู่บ้านหรือชุมชนละ 10 ครัวเรือน และขั้นสุดท้ายทำการสุ่มเลือกสมาชิกในครัวเรือนจำนวน 1 คน ด้วยวิธีการสุ่มแบบง่าย ในการสุ่มกลุ่มตัวอย่างในระดับครัวเรือน ทั้งหมด 1,640 ตัวอย่าง นั้นจะสุ่มเฉพาะผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-70 ปี ที่อาศัยอยู่จริงในพื้นที่ โดยอาศัยฐานข้อมูลครัวเรือนจากฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี 2562 โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในการสุ่มหาบ้านตัวอย่างนั้น มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. นำจำนวนครัวเรือนของหมู่บ้านเป้าหมาย หารด้วยจำนวนครัวเรือนที่ต้องการต่อหมู่บ้าน (หมู่บ้านละ 10 ครัวเรือน) ซึ่งจะทำให้ได้ช่วงห่างของบ้านในหมู่บ้านนั้น ๆ 
  2. ทำการสุ่มเลือกครัวเรือนเริ่มต้น โดยระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์โปรแกรม excel
  3. นำจำนวนครัวเรือนในหมู่บ้านมาเรียงกัน โดยมีจุดเริ่มต้นจากตัวเลขที่สุ่มได้ และทำการนับช่วงห่างของบ้านในหมู่บ้านนั้น ๆ ที่ได้จากการคำนวณ จนครบตามจำนวนครัวเรือนที่ต้องการ
  4. เมื่อได้ครัวเรือนเป้าหมายแล้ว จะสุ่มเลือกสมาชิกในครัวเรือนจำนวน 1 คน ที่มีอายุระหว่าง 18-70 ปี ด้วยระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์โปรแกรม excel

การสุ่มตัวอย่างระดับครัวเรือน (บ้านสำรอง)

เพื่อป้องกันปัญหากลุ่มตัวอย่างที่สัมภาษณ์ได้ไม่เพียงพอ ซึ่งอาจเกิดจากหลายกรณีเช่น ตัวอย่างไม่อยู่ในพื้นที่ มีความไม่พร้อมทั้งทางด้านร่างกายหรือจิตใจ และปฏิเสธการให้ข้อมูล คณะผู้วิจัยจึงได้มีการสุ่มตัวอย่างสำรองด้วยวิธีการเดียวกันนี้อีก 2 ชุด โดยผู้ควบคุมงานภาคสนามจะเป็นผู้ตัดสินใจหลังจากพิจารณาเหตุจำเป็นในการใช้บัญชีรายชื่อกลุ่มตัวอย่างสำรองดังกล่าว

การสุ่มตัวอย่างสำรองในภาคสนาม

ในกรณีไม่สามารถเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดไว้ รวมทั้งครัวเรือนและกลุ่มตัวอย่างสำรองหมด จะใช้การสุ่มตัวอย่างสำรองในสนาม โดยหัวหน้าพนักงานสัมภาษณ์ใช้หลักการวาดแผนที่ครัวเรือนและสุ่มครัวเรือนเพิ่มเติมโดยให้นับครัวเรือนหลังซ้ายมือเป็นครัวเรือนตัวอย่าง กรณีที่ครัวเรือนด้านซ้ายมือหลังถัดไปเป็นบ้านร้างหรือไม่มีผู้อยู่อาศัยคิง ให้นับครัวเรือนด้านซ้ายมือหลังถัดไปจนกว่าจะได้ครัวเรือนที่มีคุณสมบัติ จากนั้นให้สุ่มเลือกสมาชิกในครัวเรือนนั้น โดยทำลิสต์สมาชิกในครัวเรือนตามแบบฟอร์มการสุ่มตัวอย่างภาคสนาม โดยไม่มีการระบุชื่อสมาชิกในครัวเรือน เพียงแต่ให้รหัสไว้เพียงเพื่อให้ทราบว่าเป็นบุคคลใด จากนั้นให้หัวหน้าโครงการหรือหัวหน้าทีมภาคสนามที่อยู่นอกพื้นที่ ดำเนินการสุ่มหมายเลขแล้วแจ้งกลับมายังพนักงานสัมภาษณ์ว่าเป็นบุคคลลำดับหรือรหัสใด เพื่อป้องกันอคติที่อาจจะเกิดขึ้นจากพนักงานสัมภาษณ์

 

1.3 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

คณะผู้วิจัยเลือกใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ โดยแบบสอบถามดังกล่าวมาจากการรวบรวมการศึกษางานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำมาออกแบบและพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แบบสอบถามมีทั้งหมด 4 ตอน ดังนี้

ส่วนที่ 1  คำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปส่วนบุคคล (12 ข้อ)

ส่วนที่ 2  ทัศนคติต่อปัญหาและสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ (11 ข้อ)

ส่วนที่ 3   ทัศนคติต่อกระบวนการสันติภาพ/สันติสุข (17 ข้อ)

ส่วนที่ 4 ทัศนคติต่อสิ่งที่ควรดำเนินการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่สันติภาพ/สันติสุข (7 ข้อ)

 

1.4 การเก็บรวบรวมข้อมูล

ก) การสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่

การศึกษานี้เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบต่อหน้า )face-to-face interview) โดยใช้แบบสอบถามบันทึกข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูลทำโดยทีมเก็บข้อมูลภาคสนาม ที่ผ่านการอบรมการสัมภาษณ์มาแล้ว ช่วงเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ เดือนกันยายน - ตุลาคม 2562 ขั้นตอนในการทำงานภาคสนาม มีดังนี้

1) ประสานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รับรู้วัตถุประสงค์และขั้นตอนการดำเนินงาน

2) เก็บข้อมูลพื้นฐานเพื่อเตรียมแผนการทำงานภาคสนาม ได้แก่ แผนที่หมู่บ้าน บัญชีครัวเรือนและสมาชิกในหมู่บ้าน

3) ติดต่อพื้นที่ที่ได้รับการสุ่มตัวอย่างเพื่อขอเข้าศึกษาวิจัย

4) หาจุดที่ตั้งของครัวเรือนและบุคคลที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง

5) ติดต่อบุคคลในครัวเรือนเพื่อขอสัมภาษณ์ และเมื่อได้รับความยินยอมแล้วจึงเริ่มทำการสัมภาษณ์ โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 60 -90 นาที ในการตอบแบบสัมภาษณ์

 

ข) การสำรวจของผู้นำความคิดจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ 

การสำรวจความคิดเห็นของผู้นำความคิด ในการศึกษาครั้งที่ 5 นี้ เป็นการศึกษาจากกลุ่มผู้นำที่ทำงานในระดับพื้นที่ จากพื้นที่หมู่บ้านตัวอย่างในการศึกษาข้อมูลของกลุ่มประชาชนทั่วไป จำนวน 55 หมู่บ้าน (หนึ่งในสามของหมู่บ้านตัวอย่างที่ทำการสุ่มได้) โดยขั้นตอนในการคัดเลือกตัวแทนของกลุ่มผู้นำความคิดในการศึกษาครั้งนี้ จะใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จากกลุ่มผู้นำ 4 กลุ่มในพื้นที่ ดังนี้

1) ผู้นำศาสนา มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณากลุ่มผู้นำศาสนาที่จะดำเนินการสัมภาษณ์ คือ ต้องเป็นอิหม่ามจากมัสยิดที่จดทะเบียนก่อน ถ้าไม่ได้ เลือกเป็นคอเต๊บ หรือบิหล่านตามลำดับ และหากหมู่บ้านใดมีวัดอยู่ ให้สัมภาษณ์เจ้าอาวาสหรือรองเจ้าอาวาสด้วย

2) ผู้นำท้องที่ มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกผู้นำท้องที่ คือ กรณีที่พื้นที่ตัวอย่างมีบ้านของกำนันอยู่ในพื้นที่ให้เลือก กำนัน เป็นผู้ให้ข้อมูล ถ้าไม่มี หรือไม่สะดวกให้ข้อมูล ให้เลือก ผู้ใหญ่บ้าน หรือ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตามลำดับ

3) ผู้นำท้องถิ่น หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกผู้นำท้องถิ่น คือ กรณีที่พื้นที่ตัวอย่างมีบ้านของ นายก อบต. หรือ นายกเทศมนตรี อยู่ในพื้นที่ให้เลือก นายก อบต. หรือ นายกเทศมนตรี  ถ้าไม่มี หรือไม่สะดวกให้ข้อมูล เลือกเป็น รองนายกฯอบต. สมาชิก อบต. หรือ สมาชิกเทศบาล ตามลำดับ

4) ผู้นำสตรี หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกผู้นำสตรี คือ เป็นสตรีที่มีบทบาทในการทำงานในพื้นที่ และได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ โดยกรณีที่หมู่บ้านตัวอย่าง มีมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ให้พิจารณาจาก ครูสอนอัลกุรอ่าน (ที่เป็นผู้หญิง) ถ้าไม่มี หรือไม่สะดวกให้ข้อมูล เลือกเป็น อสม. (ที่เป็นผู้หญิง) แต่ในกรณีที่หมู่บ้านตัวอย่างมีพุทธเป็นส่วนใหญ่ ให้ถาม อสม.(ที่เป็นผู้หญิง) เหตุผลที่ใช้เกณฑ์จำนวนประชากรในการเลือกตำแหน่งนั้น เพราะเป็นเกณฑ์ที่สะท้อนลักษณะของสังคม

 

2. การอบรมพนักงานสัมภาษณ์และการควบคุมคุณภาพข้อมูล

เมื่อจัดทำคู่มือการสัมภาษณ์และการทำงานภาคสนามเสร็จแล้ว จะทำการอบรมหัวหน้าทีมและพนักงานสัมภาษณ์ทั้งในเชิงทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติในพื้นที่ทดลอง เนื้อหาในการอบรมครอบคลุม วัตถุประสงค์ของการสำรวจ การเลือกกลุ่มตัวอย่าง ขั้นตอนการสำรวจและการเข้าหากลุ่มตัวอย่าง เนื้อหาของแบบสอบถาม เทคนิคการสัมภาษณ์ ข้อพิจารณาเชิงจริยธรรมในคน การทดสอบความเข้าใจเนื้อหาและขั้นตอนการสำรวจ และการนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขที่พบขณะฝึกปฏิบัติ

การสำรวจในครั้งนี้มีการควบคุมคุณภาพข้อมูลหลายวิธีเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่เก็บรวบรวมมานั้น มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ ประการแรก มีผู้ควบคุมงานภาคสนามโดยหัวหน้าทีมในการเก็บรวบรวมข้อมูล นอกจากจะทำการติดต่อประสานงานกับพื้นที่เพื่อเตรียมแผนงานภาคสนามแล้ว ยังมีหน้าที่คอยดูแล กำกับ และให้คำแนะนำพนักงานสัมภาษณ์อย่างต่อเนื่อง ประการที่สอง มีคนในพื้นที่พาเข้าไปพบกลุ่มตัวอย่างและแนะนำทีมงานภาคสนามเพื่อให้กลุ่มตัวอย่างในพื้นที่เกิดความไว้วางใจที่จะให้ข้อมูล

 

3. ข้อพิจารณาด้านจริยธรรมการวิจัยในคน

ในการศึกษานี้ ได้พิจารณาประเด็นจริยธรรมการวิจัยในคนทั้งการขอความยินยอมจากกลุ่มตัวอย่าง โดยแจ้งให้กลุ่มตัวอย่างได้รับทราบถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ตลอดจนการเก็บรักษาข้อมูลเป็นความลับ และใช้เพื่อการวิเคราะห์ในภาพรวมเท่านั้น หากกลุ่มตัวอย่างต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ เพิ่มเติม ทางคณะผู้วิจัยได้แจ้งชื่อหน่วยงานและบุคคลที่สามารถติดต่อได้ไว้ด้วย

ประเด็นการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของกลุ่มตัวอย่างเป็นความลับ คณะผู้วิจัยเน้นย้ำกับพนักงานสัมภาษณ์ให้เก็บรักษาข้อมูลของผู้ตอบเป็นความลับอย่างเคร่งครัด และให้ใช้รหัสแทนตัวบุคคล ซึ่งผู้อื่นไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ และจะไม่มีการเปิดเผยตัวตนหรือชื่อของผู้ให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณะ ข้อมูลจะถูกนำไปใช้เพื่อการวิจัยเท่านั้น โดยจะถูกนำไปวิเคราะห์ในภาพรวม และนำเสนอเป็นรายงานการวิจัย

 

4. การวิเคราะห์ข้อมูล

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าร้อยละ (percentage) ค่าความถี่ (frequency) ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) 

ระเบียบวิธีวิจัย