แนวคิดการวิจัยเชิงสำรวจ

แนวคิดการวิจัยเชิงสำรวจ

นักวิจัยทำการวิจัยมิใช่เพื่อการค้นพบสัจธรรมหรือความจริงที่จริงแท้ยิ่งกว่าคนอื่น แต่เพื่อหาวิธีการค้นหาความน่าจะเป็นไปได้ที่จะเข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่าความจริงโดยที่ตัวเองก็รู้ว่าเครื่องมือของตัวเองมีจุดอ่อนและมีโอกาสความคลาดเคลื่อนอยู่ด้วยมากน้อยเพียงใด สิ่งที่เรากำลังทำนี้เรียกว่าระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ 

การสำรวจ (Survey) เป็นการวิธีศึกษาอย่างเป็นระบบเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจาก (กลุ่มตัวอย่างหรือ)ประชากรเป้าหมายหรือสิ่งต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประดิษฐ์สร้าง “ตัวอธิบายในเชิงปริมาณ” (Quantitative  Descriptors) ต่อคุณลักษณะของประชากรทั้งหมดซึ่งสิ่งที่เราจะทำการศึกษานั้นเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งอยู่ด้วย ควรสังเกตที่คำว่า “อย่างเป็นระบบ”ซึ่งเป็นการสะท้อนความจงใจและความมุ่งหมายที่จะแยกการสำรวจออกจากวิธีการอื่น ๆ ในการเก็บข้อมูล ในคำอธิบายข้างต้นยังมีการใช้คำว่า “กลุ่มตัวอย่าง” ด้วยเหตุที่ว่าบางครั้งการสำรวจพยายามที่จะวัดทุกสิ่งทุกอย่างหรือคนทุกคนในประชากรทั้งหมดและในบางครั้งก็เป็นการศึกษาเพียงแค่กลุ่มตัวอย่างกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ในการสำรวจนั้นจะต้องมีระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจที่ดีด้วย

ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Methodology) คือการศึกษาวิธีการวิจัยเชิงสำรวจชนิดต่างๆ อันที่จริงแล้วระเบียบวิธีวิจัยนี้คือ การศึกษาถึงแหล่งที่มาของความคลาดเคลื่อนในการสำรวจและดูวิธีว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ค่าตัวเลขที่ผลิตขึ้นมาจากการสำรวจมีความตรง/ชัด/แน่นอนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ คำว่า “ความคลาดเคลื่อน (Error)” นี้จึงหมายความถึงความเบี่ยงเบนออกจากผลลัพธ์อันเป็นที่พึงปรารถนา ความคลาดเคลื่อนในการวิจัยเชิงสำรวจถูกใช้เรียกความเบี่ยงเบนออกจากค่าที่แท้จริงอันเป็นค่าที่ใช้ได้กับกลุ่มประชากรที่ถูกศึกษา ในบางครั้งมีการใช้คำว่า “ความคลาดเคลื่อนในทางสถิติ (Statistical Error)” ด้วยเพื่อแยกความคลาดเคลื่อนในทางสถิติอย่างนี้กับความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ (หรือสิ่งที่อาจจะเรียกว่า Simple Mistakes)

การวิจัยเชิงสำรวจเป็นสาขาวิชาที่ค่อนข้างจะเยาว์วัย แม้ว่าการสำรวจปรากฏการณ์ทางสังคมเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบจะมีรากลึกในประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ว่าการสำรวจในแบบใหม่ซึ่งอาศัยการจัดการเรื่องกรอบการสุ่มตัวอย่างในขอบเขตกว้างขวาง การสุ่มตัวอย่างโดยหลักทฤษฎีความน่าจะเป็นในทางสถิติ การใช้แบบสอบถามอย่างมีโครงสร้างและการอ้างอิงหลักในทางสถิติไปยังกลุ่มประชากรทั้งหมดพร้อมทั้งการวัดค่าความคลาดเคลื่อนได้บังเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1940 นี้เอง

ซึ่งความหมายของระเบียบวิธีวิจัยตรงนี้ก็คือความพยายามที่จะเข้าใจว่าทำไมความคลาดเคลื่อนจึงบังเกิดขึ้นได้ในสถิติของการสำรวจ ในจุดเริ่มต้นนั้นเราควรมาดูว่าการวิจัยสำรวจสร้างสถิติเพื่อวิเคราะห์ลักษณะประชากรได้อย่างไร จากแผนภาพข้างล่างนี้ในกล่องซ้ายล่างคือ วัตถุดิบที่ได้มาจากการสำรวจหรือคำตอบที่ผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคนให้กับนักวิจัย คุณค่าของข้อมูลนี้คือมันได้สร้างตัวบ่งชี้พรรณนาความที่ดีต่อลักษณะของผู้ตอบซึ่งแสดงให้เห็นในกล่องซ้ายบน แต่การวิจัยเชิงสำรวจไม่ได้พอใจแค่รู้ว่าลักษณะของผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละคนเป็นอย่างไรในตัวของมันเองเท่านั้น นักวิจัยยังต้องสนใจ “ค่าสถิติ” ที่เชื่อมโยงคำตอบเหล่านี้เพื่อสรุปลักษณะของกลุ่มคนจากการศึกษาในครั้งนี้ ขั้นต่อไปนั้นการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง (Sample Survey) นั้นสามารถเชื่อมคำตอบเหล่านี้ (ดูในกลุ่มควันที่อยู่ตรงกลาง) ให้เข้ากับการสรุปลักษณะโดยรวมของกลุ่มบุคคลภายในขั้นตอนการวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อประดิษฐ์สร้างค่าสถิติที่อธิบายลักษณะของคนทุกคนในกลุ่มตัวอย่าง ควรสังเกตว่า ณ จุดนี้เราก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายสูงสุดซึ่งกลุ่มตัวอย่างถูกหยิบเลือกขึ้นมา กล่าวคือ เรายังต้องการอธิบายลักษณะทั่วไปของกลุ่มประชากรกลุ่มใหญ่ในอีกชั้นหนึ่งด้วย 

แนวคิดการวิจัยเชิงสำรวจ Peace Survey

 

การอนุมานสองชั้นนี้เป็นจังหวะก้าวสำคัญที่เป็นหัวใจของของการวิจัยเชิงสำรวจซึ่งทำให้การวิจัย สำรวจมีลักษณะสองประการคือข้อมูลจากคำตอบที่คนให้แก่นักวิจัยนั้นจะต้องอธิบายคุณลักษณะของผู้ตอบได้อย่างเที่ยงตรงชัดเจนและกลุ่มคนกลุ่มเล็กที่เป็นเซตย่อย (Subset) ซึ่งเข้าร่วมในการสำรวจจะต้องมีสภาพ หรือลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับประชากรในกลุ่มใหญ่ เมื่อใดก็ตามที่เงื่อนไขทั้งสองประการนี้ไม่บังเกิดขึ้นสถิติจากการสำรวจก็จะตกอยู่ภายใต้ภาวะ “ความคลาดเคลื่อน” (Error) ซึ่งหมายถึงข้อมูลที่ได้มาในกระบวนการสำรวจเกิดความเบี่ยงเบนจากสิ่งที่พึงปรารถนา ในอีกด้านหนึ่งปัญหาที่อาจจะเกิดตามมา คือ  “ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการวัด” (Measurement Errors) หรือที่เรียกกันว่า “ความคลาดเคลื่อนในการสังเกตการณ์” (Error of Observations) ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความเบี่ยงเบนจากคำตอบที่ได้มาจากแบบสอบถามในการวิจัยสำรวจ นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เรียกว่า “ความคลาดเลื่อนจากการไม่ถูกสังเกตการณ์” (Errors of Non-observation) อันเกี่ยวข้องกับความเบี่ยงเบนของค่าสถิติประมาณการของกลุ่มตัวอย่างจากค่าของประชากรทั้งหมด (Population)

 

แนวคิดการวิจัยเชิงสำรวจ Peace Survey

ทั้งๆที่มีโอกาสที่จะเกิดค่าความคลาดเคลื่อนได้ในการศึกษาจากกลุ่มประชากรขนาดใหญ่แต่ก็มีทางป้องกันด้วยการออกแบบการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์อย่างระมัดระวัง ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจเป็นการศึกษาว่าสิ่งใดที่จะช่วยให้สถิติจากการวิจัยสำรวจมีคุณค่าสาระประโยชน์มากยิ่งขึ้น วิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจการวิจัยเชิงสำรวจได้ดีก็คือการดูหรือตรวจสอบความคลาดเคลื่อนประเภทต่างๆหรือการพิจารณาดูในมุมมองของ ‘คุณภาพ’ ในการวิจัยซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของระเบียบวิธีการวิจัยเชิงสำรวจ อีกวิธีหนึ่งก็คือการพยายามศึกษาวิธีการตัดสินใจในการออกแบบการวิจัยเชิงสำรวจทุกแบบซึ่งมีประเด็นสาระสำคัญคือ

  • การระบุกลุ่มประชากรที่เหมาะสมสำหรับการสำรวจ
  • การเลือกวิธีที่จะหารายชื่อทั้งหมดของประชากร
  • การเลือกแผนสุ่มตัวอย่าง
  • การเลือกวิธีเก็บข้อมูล

การออกแบบการวิจัยจึงมีขั้นตอนต่าง ๆ การทำให้การออกแบบกลายเป็นกระบวนการที่เป็นจริงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการวิจัยเชิงสำรวจ การออกแบบเป็นขั้นๆดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นจะมีขั้นตอนที่คาดการได้อย่างชัดเจนมาก จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่มีการจัดวางลำดับขั้นตอนของการวิจัยเชิงสำรวจไปตามขั้นของเวลาและมีความเป็นระเบียบแบบแผนซึ่งขั้นตอนเหล่านี้มักจะปรากฏอยู่ในตำราวิจัยโดยทั่วไปจากแผนภาพข้างล่างแสดงให้เห็นว่าจะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการสำรวจก่อนที่จะตัดสินใจสองด้านคือ ด้านหนึ่งเป็นการตัดสินใจเรื่องกลุ่มตัวอย่างและอีกด้านหนึ่งเป็นการตัดสินใจเรื่องกระบวนการวัดค่า การตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการเก็บข้อมูลอย่างไรเป็นตัวกำหนดที่สำคัญต่อลักษณะของเครื่องมือในการวัดด้วยเช่น ลักษณะของแบบสอบถามตามแผนภาพดังกล่าว แบบสอบถามจะต้องมีการทดสอบก่อนใช้ในการเก็บข้อมูลสำรวจ ในด้านขวามือของแผนภาพ การเลือกกรอบการสุ่มตัวอย่างเมื่อผนวกเข้ากับการออกแบบกลุ่มตัวอย่างจะสร้างตัวอย่างที่เป็นจริงขึ้นมาในการสำรวจเครื่องมือในการวัดและกลุ่มตัวอย่างจะมาด้วยกันในระหว่างขั้นตอนของการเก็บข้อมูลซึ่งในระหว่างขั้นตอนนี้ความสนใจหลักจะมุ่งไปที่การได้มาซึ่งการวัดค่ากลุ่มตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบ (เช่นการหลีกเลี่ยงกรณีของผู้ไม่ตอบ) หลังจากเก็บข้อมูลแล้วข้อมูลก็จะถูกบรรณาธิการและนำมาใส่ค่ารหัสในรูปแบบที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้ แฟ้มข้อมูลจะผ่านการปรับหลังจากการสำรวจ เพื่อค้นหาความคลาดเคลื่อนจากการไม่ตอบและดูความคลอบคลุมในกลุ่มประชากรเป้าหมายการปรับในขั้นนี้เป็นตัวกำหนดว่าจะใช้ข้อมูลอะไรในขั้นตอนสุดท้ายของการประมาณค่าหรือการวิเคราะห์ซึ่งจะกำหนดรูปลักษณ์ของการอนุมานทางสถิติที่ย้อนกลับไปที่ค่าของประชากรเป้าหมาย ผลการวิจัยที่ดีหรือการประมาณการค่าของการสำรวจที่ดีจะต้องมีการประสานกันระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้

แนวคิดการวิจัยเชิงสำรวจ Peace Survey

จากพื้นฐานความเข้าใจข้างต้นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 5  (Peace Survey 5) นี้ จึงใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) อันเป็นระเบียบวิธีเช่นเดียวกันกับการศึกษารอบที่ 1-4 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีกสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา อันประกอบด้วยอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ต่อปัญหาในพื้นที่และความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ได้ข้อมูลจากประชาชนในการทำความเข้าใจปัญหาในทางวิชาการและข้อมูลอาจจะมีส่วนกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพของประชาชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ในสังคม

แนวคิดการวิจัยเชิงสำรวจ