พลวัตความเคลื่อนไหวของนักการเมืองมลายูมุสลิมท่ามกลางความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้
งานวิจัยเชิงคุณภาพเรื่อง “พลวัตการเคลื่อนไหวของนักการเมืองมลายูมุสลิมท่ามกลางความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้” ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คำถามวิจัยของงานชิ้นนี้ต้องการมุ่งเน้นถึงการมองบนฐานข้อมูลที่ปรากฏให้เห็นถึงการปรับตัวอย่างเห็นได้ชัดของนักการเมืองมลายูมุสลิมในช่วงหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นต้นมา ตลอดจนคำถามที่ว่าการต่อสู้ทางการเมืองในระบอบรัฐสภายังคงมีความหวังในการเป็นทางเลือกหนึ่งในการต่อรองทางการเมืองหรือการเรียกร้องสิทธิของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ได้อีกหรือไม่ และมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดและรูปแบบการเคลื่อนไหวของนักการเมืองมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ ตลอดจนพลวัตการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักการเมืองมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ในบริบททางการเมืองที่ปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงปัจจุบัน และเพื่อเสนอแนะต่อนักการเมืองมลายูมุสลิมและรัฐในการร่วมพัฒนาพื้นที่การเมืองที่สนับสนุนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยงานชิ้นนี้วางอยู่บนฐานแนวคิดสำคัญคือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์
งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกนักการเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้และผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนทั้งสิ้น 66 ท่าน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตทุกเขตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จำนวน 13 ท่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชายแดนใต้แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 3 คน สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 1 ท่าน อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง อดีต ส.ส. และอดีต ส.ว. จำนวน 19 ท่าน อดีตผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 12 ท่าน นักการเมืองท้องถิ่น 3 ท่าน นักวิชาการและอูลามาอฺ(ผู้รู้) จำนวน 4 ท่าน แกนนำและสมาชิกขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี อาทิ BRN, PULO, BIPP, MARA Patani จำนวน 7 ท่าน และเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุขชายแดนใต้ จำนวน 3 ท่าน พร้อมทั้งมีการจัดสนทนากลุ่มร่วมกับนักการเมือง ภาคประชาสังคมและนักวิชาการ จำนวน 2 ครั้ง นอกจากนั้นยังมีการสังเกตการณ์ในช่วงเวลาทั้งก่อนและหลังจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 หลังจากเก็บข้อมูลตามวิธีการข้างต้นประกอบกับข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้วก็ได้นำมาวิเคราะห์ประเด็นถกเถียงที่เกี่ยวข้องผ่านแนวคิดเรื่องการเมืองเชิงอัตลักษณ์ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดหลักที่ใช้งานวิจัยดังกล่าวนี้
ผลการวิจัย พบว่า พลวัตการขับเคลื่อนของนักการเมืองมลายูมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้นับตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2547 สามารถแบ่งเป็นสามช่วงเวลาหลัก คือ ก่อนปี พ.ศ. 2547 หลังการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548-2561 และในช่วงการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 แต่ละช่วงมีข้อน่าสังเกตคือก่อนปี พ.ศ. 2547 เป็นการต่อสู้ในพื้นที่ทางการเมืองของเชื้อสายเจ้าเมืองและผู้รู้ศาสนา มีนักการเมืองที่ผิดหวังกับระบบรัฐสภาและออกไปสนับสนุนกลุ่มขบวนการติดอาวุธ และในช่วงนี้ยังเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มวาดะห์ซึ่งรวมกลุ่มเพื่อสร้างเสียงต่อรองของนักการเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้ หลังจากปี พ.ศ. 2547 เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ความพ่ายแพ้ของกลุ่มวาดะห์และการขึ้นมาของนักการเมืองในหน้าใหม่หลายท่าน และต่อมาในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 ก็ได้เห็นพัฒนาการสำคัญของการก่อตั้งพรรคประชาชาติซึ่งได้กลายเป็นพรรคที่เห็นนัยยะเชิงอัตลักษณ์ของความเป็นมลายูมุสลิมอย่างชัดเจน การศึกษาครั้งนี้ยังพบว่าระบบรัฐสภายังคงเป็นความหวังสำหรับการขับเคลื่อนเพื่อสร้างพื้นที่ต่อรองทางการเมือง โดยที่พื้นที่ทางการเมืองนั้นจะเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้อัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมหรือความเป็นมลายูสามารถมีที่ทาง จนกระทั่งสามารถลดเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ แต่อย่างไรก็ตามพื้นที่ทางการเมืองแบบนี้จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ที่ประยุกต์ใช้หลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มิใช่เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ ซึ่งอาจทำให้พื้นที่ทางการเมืองถูกปิดกั้นและหันไปสู่การใช้ความรุนแรงได้
คำสำคัญ: นักการเมือง มลายู มุสลิม การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้