การสื่อสารสาธารณะเพื่อแปรเปลี่ยนความขัดแย้งในกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

Communication Model for Peace

การสื่อสารสาธารณะเพื่อแปรเปลี่ยนความขัดแย้งในกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิทัศน์การสื่อสารและการสื่อสารออนไลน์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อศึกษาบทบาทของสื่อภาคประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการเปิดพื้นที่ของแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์และกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และค้นหาตัวแบบด้านการสื่อสารสาธารณะในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้เป็นแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) สื่อออนไลน์ของกลุ่ม/องค์กรภาคประชาชนที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 42 องค์กร และพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา) จำนวน 617 ตัวอย่าง รวมไปถึงการวิเคราะห์เนื้อหาสื่อออนไลน์ (Media Content Analysis)  การสัมภาษณ์ (Interview) และการสนทนากลุ่ม (Group Discussion) นักกิจกรรมและตัวแทนองค์กรภาคประชาชนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งในเชิงปริมาณสำหรับการวิเคราะห์ภาพกว้างและเชิงคุณภาพสำหรับการวิเคราะห์เชิงลึก

ผลการวิจัยพบว่า การสื่อสารออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการใช้เฟสบุ๊กแฟนเพจและเว็บไซต์เป็นช่องทางหลัก มีการสื่อสารเนื้อหาในเฟสบุ๊กแฟนเพจอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรภาคประชาสังคม/กลุ่มกิจกรรมสาธารณะ แต่การขยับตัวขององค์กร/กลุ่มโดยภาพรวมในการใช้ช่องทางการสื่อสารออนไลน์ยังไม่สูงมากนัก โดยรูปแบบการนำเสนอส่วนใหญ่ยังเป็นการแชร์ข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลอื่นมากกว่าการผลิตเนื้อหาข่าวสารเอง ยกเว้นประเด็นการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกลุ่ม ส่วนการนำเสนอเนื้อหาของกลุ่มส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวข่าวสารชายแดนใต้มากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือประเด็นเด็กและเยาวชน และการช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน

สำหรับ 7 องค์กร/กลุ่มที่มีผู้ติดตามข่าวสารทางเฟสบุ๊กแฟนเพจในระดับสูง (มากกว่า 10,000 คน) ได้แก่ (1) มีเดียสลาตัน (2) สำนักสื่อวัรตานี (3) กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (P.N.Y.S.) (4) กลุ่มสายบุรีลุกเกอร์ (5) ปาตานี ฟอรั่ม (6) กลุ่มนักศึกษาจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข และ (7) ข่าวภาคใต้ชายแดน แต่ยังมีช่องว่างระหว่างการรับรู้ข่าวสารกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม  โดยพิจารณาจากพฤติกรรมการกดไลค์ แชร์ การแสดงความคิดเห็นในสื่อ และการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะที่จัดขึ้นผ่านการประชาสัมพันธ์ทางสื่อออนไลน์ เนื้อหาที่มียอดไลค์สูงสุดส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจ ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน กิจกรรมขององค์กร ประเด็นศาสนาและการสื่อสาร ส่วนเนื้อหาที่มียอดไลค์ต่ำสุด เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในมิติการเมืองการปกครอง เช่น นโยบายของรัฐบาล การพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข

ด้านข้อจำกัดและสิ่งท้าทายในการสื่อสาร ได้แก่ ประเด็นการเข้าถึงสื่อออนไลน์ของประชาชน ข้อจำกัดด้านทักษะการสื่อสาร การสร้างสรรค์เนื้อหาข่าวสารและการจัดการ Platform สิ่งท้าทายด้านการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะและการสร้างสันติภาพ รวมถึงสิ่งท้าทายด้านการสร้างความมั่นคงของกลุ่ม/องค์กรและความยั่งยืนของกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม

ข้อเสนอตัวแบบการสื่อสารเพื่อแปรเปลี่ยนความขัดแย้งและสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้  มีดังนี้

    • ควรมีการวางกลยุทธ์และแผนการสื่อสารที่มีเป้าหมายชัดเจน ต่อเนื่องและความสม่ำเสมอ
    • ควรมีการใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายและข้าม platform 
    • ควรมีการสร้างเครือข่ายนักกิจกรรมทั้งในระดับแนวราบ และเครือข่ายนักกิจกรรมข้ามประเด็น/ข้ามพื้นที่
    • ควรพัฒนาทักษะการสื่อสารแบบออนไลน์ของนักสื่อสาร
    • ควรมีการแสวงหาพันธมิตรด้านการสื่อสารที่มาจาก platform ที่หลากหลาย (ชุมชน กลุ่ม/องค์กร นักปฏิบัติการสื่อสาร ผู้ประกอบการสื่อสารในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) พันธมิตรนี้จะทำให้เกิดจุดเชื่อมต่อประเด็นการขับเคลื่อนงานของกลุ่มระหว่างกลุ่ม ระหว่างสื่อและระหว่างพื้นที่
    • พิจารณาการปรับกระบวนการทำงานสื่อสารให้มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และไม่ซับซ้อน เพื่อให้กลุ่มสามารถดึงสมาชิกใหม่ ๆ เข้ามีส่วนร่วมและเรียนรู้ไปด้วยกัน
    • การมีกลไกรับความเสี่ยง ทั้งในด้านทรัพยากรสนับสนุนการทำงาน ด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี ด้านการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล