ความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างความชอบธรรม การแบ่งปันอำนาจ และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
บทคัดย่อ
ปฏิบัติการสันติภาพได้รับผลกระทบจากภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสองมิติ คือ มิติด้านดินแดนหรือความมั่นคง และมิติด้านทรัพยากร การสร้างสันติภาพจะบังเกิดความยั่งยืนได้ก็ด้วยความเข้าใจกระบวนการแห่งอัตสัมพันธ์วิสัยและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย แต่ทว่ายังมีกระบวนการสร้างความชอบธรรมอีกสองชนิดที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพ ซึ่งก็คือการกระจายอำนาจและความมั่งคั่งใหม่ และการยอมรับใน อัตลักษณ์ การกระจายอำนาจและความมั่งคั่งใหม่ เป็นกระบวนการที่ช่วยให้การสร้างสันติภาพบรรลุความชอบธรรม ส่วนการยอมรับอัตลักษณ์ เป็นกระบวนการทำให้การสร้างสันติภาพได้มีความเป็นตัวแทนและความชอบธรรม กระบวนการทั้งสองอย่างทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีความยุติธรรม ซึ่งนำไปสู่การยอมรับสิทธิของผู้ปกครอง ในอีกด้านหนึ่ง สันติภาพยังมีประเด็นการกระจายอำนาจหรือการแบ่งปันอำนาจ (Power-Sharing) ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น รูปแบบทางการเมืองประชาธิปไตยที่ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการแบ่งปันอำนาจคือระบอบประชาธิปไตยแบบสหสังคมหรือ Consociationalism ซึ่งเป็นรัฐที่มีการแบ่งแยกภายในตามแนวชาติพันธุ์ ศาสนา หรือภาษา แต่ยังคงมีเสถียรภาพเนื่องจากการปรึกษาหารือกันระหว่างชนชั้นนำในกลุ่มเหล่านี้ รัฐแบบสหสังคมมักถูกนำไปเปรียบเทียบว่าดีกว่ารัฐที่มีระบบการเลือกตั้งในแบบเสียงข้างมากในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอัตลักษณ์ แนวทางที่สองคือระบอบประชาธิปไตยแบบเน้นศูนย์กลางหรือ Centripetalism โดยระบอบประชาธิปไตยแบบเน้นศูนย์กลางมุ่งจะลดความเป็นการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์และสนับสนุนพรรคการเมืองที่ร่วมมือกันหลายชาติพันธุ์
ผลจากการศึกษาเปรียบเทียบกับบริบทสังคมหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า จังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซียได้พัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบเน้นศูนย์กลาง (Centripetalism) การแก้ปัญหาความขัดแย้งของมินดาเนามีส่วนคล้ายคลึงกับแนวคิดประชาธิปไตยแบบสหสังคม (Consociationalism) ผสมกับการเมืองระบบอุปถัมภ์ใหม่ ในขณะที่การแก้ปัญหาภาคใต้ของประเทศไทย รัฐไทยมีแนวโน้มที่จะเลือกเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบเน้นศูนย์กลาง (Centripetalism) มากกว่าเพราะยังคงสับสนกับการแก้ปัญหาแบบอำนาจนิยม ส่วนการจัดการของปาปัว ในอินโดนีเซียเป็นการผสมระหว่างประชาธิปไตยแบบสหสังคม (Consociationalism) และประชาธิปไตยแบบเน้นศูนย์กลาง (Centripetalism) อันทำให้มีลักษณะสันติภาพที่แตกแยกแตกต่าง
ที่มา วารสารความขัดแย้งและสันติศึกษา สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์