เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ 2564 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำสถานวิจัยความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมเป็นวิทยากรในวงสนทนา BICARA PATANI ครั้งที่ 79 ในรูปแบบออนไลน์ ว่าด้วยเรื่องทบทวน 8 ปีการพูดคุยสันติภาพ: จะเดินต่อไปอย่างไรดี? โดยวิทยากรท่านอื่นๆ ประกอบไปด้วย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อุสตาซฮาซัน ตอยิบ คุณกัสตูรี มะห์โกตา รศ.ดร.มารค ตามไท นายแพทย์อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม และ พล.ท.นักรบ บุญบัวทอ ดำเนินรายการโดย Zahri Ishak Thapanee Eadsrichai และ Romadon Panjor
โดยทาง The Reporters รายงานว่า PEACE TALK: ทบทวน 8 ปีกระบวนการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ ทุกฝ่ายยอมรับว่า ล่าช้า "ภราดร" ชี้ ถ้าให้สำเร็จต้องมีรัฐบาลประชาธิปไตย ขณะที่ "ฮัสซัน ตอยิบ" ย้ำ รัฐไทยต้องยอมรับเป็นวาระแห่งชาติ ด้านพูโล และมารา ปาตานี หวังการมีส่วนร่วมทุกฝ่าย
เวทีการพูดคุย ทบทวน 8 ปีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ จะเดินต่อไปอย่างดี ซึ่งจัดโดย Bicara Patani, The Reporters, CSCD-PSU Pattani, DSW, Wartani, CAP, Patani Notes, ThaiPBS, นักข่าวพลเมือง(ThaiPBS) PRC ได้เชิญผู้เคยมีส่วนร่วมกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ที่มีการลงนามข้อตกลงพูดคุยเพื่อสันติภาพ ระหว่าง รัฐบาลไทย โดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.กับ นายฮัสซัน ตอยิบ ผู้นำทางการเมืองของขบวนการ BRN และตั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขขึ้น แต่หลังการรัฐประหารปี 2557 รัฐบาล คสช.มีการตั้งคณะพูดคุยขึ้นมาใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็นคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข โดยมี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าพูดคุยฝ่ายไทย และ เปิดโต๊ะเจรจาใหม่ กับ กลุ่ม Mara Patani ที่เป็นองค์กรร่มของขบวนการต่างๆไม่ต่ำกว่า 6 องค์กร โดยมีนายอาวัง จาบัต จาก BRN เป็นประธาน ในปี 2558 ซึ่งดูเหมือนการพูดคุยจะเดินหน้าไปได้ แต่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 2562 มีการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยจาก พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัตน์ มาเป็น พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ พร้อมกับฝ่ายขบวนการกลับมาเป็น BRN ที่ม่ีนายอานัส อับดุลเราะห์มาน เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยของ BRN ครบรอบ 8 ปีกระบวนการพูดคุยสันติภาพวันนี้ จึงเป็นครั้งแรกของการพูดคุยผ่านออนไลน์ จากผู้ที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จนน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ยอมรับว่า 8 ปีที่แล้วสเรายังไปไม่ถึงปลายทาง ที่ต้องการให้การบริหารพื้นที่กลับมาเข้าสู่ปกติ โดยให้ บทบาท ศอบต.นำ กอ.รมน. แต่มาวันนี้กลับกลายเป็นกลับหัวที่เห็น กอ.รมน.กลับมามีบทบาทสูงขึ้น ทำให้ความก้าวหน้ายังไม่พัฒนเท่าที่ควร เพราะยังสัมพันธ์กับรูปแบบการปกครอง เพราะสิ่งที่เราปรารถนา คือการบริหารพื้่น ที่ยังไม่เป็นปกติ ซึ่งเราต้องทำต่อไป ซึ่งเมื่อ 28 ก.พ.2556 คนที่ตัดสินใจลงนามระหว่าง รัฐไทยกับ ขบวนการ BRN คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำประเทศในขณะนั้น ทำให้การพูดคุยเกิดขึ้น แต่ 8 ปีที่ผ่านมา เราช้า เพราะยังมีความหวาดระแวง ยังมีความไม่ไว้วางใจ และสภาวะแวดล้อม ยังไม่ใช่ประชาธิปไตย ทำให้การพูดคุยยังขาดการมีส่วนร่วม และยังมีการครอบงำจากฝ่ายความมั่นคง ดังนั้น หากอยากเห็นกระบวนการสันติภาพเดินหน้า ต้องเปลี่ยนรัฐบาลสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
นายฮัสซัน ตอยิบ อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ ขบวนการ BRN เปิดเผยว่า ความสำเร็จจากการลงนามสันติภาพ เมื่อ 8 ปีก่อน คือ BRN ได้รับการยอมรับเป็นขบวนการปลดปล่อยปาตานี ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยเรียกพวกเราเป็นผู้ก่อการร้าย และได้มีฉันทามติทั่วไปอย่างเป็นทางการระหว่าง BRN กับรัฐบาลไทยเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยอาศัยวิถีการทางการเมือง นอกจากนี้ยังเห็นมีส่วนร่วมของสังคมนานาชาติ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นการยกระดับของพวกเราบนโต๊ะเจรจา และสังคมปาตานีสามารถติดต่อสื่อสารกับสังคมระหว่างประเทศ รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้แก่ประชาชนในพื้นที่และมีส่วนร่วมในการต่อสู้ และประชาชนก็กล้าพูดถึงกระบวนการสันติภาพ
ส่วนสิ่งที่ยังไม่ได้บรรลุในกระบวนการ คือไม่ได้คุยประเด็นหลักอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิความเป็นเจ้าของ (hak pertuanan) อัตลักษณ์ของชาวมลายูปาตานี การปกครองตนเอง ฯลฯ รวมทั้ง การมีส่วนร่วมของสังคมในพื้นที่ องค์กรทางสังคมในกระบวนการสันติภาพ และการพูดคุย ยังไม่เป็น วาระแห่งชาติที่ได้รับการยอมรับจากรัฐสภา
อุสตาซ ฮัสซัน ตอยิบในฐานะเป็นอดีตหัวหน้าคณะพูดคุย มีข้อเสนอต่อการเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ยังดำเนินอยู่ คือ ทั้งสองฝ่าย บีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย ต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงใจในโต๊ะเจรจา เพราะแนวทางแก้ไขไม่ได้อยู่ที่สนามรบแต่อยู่ที่โต๊ะเจรจา ฝ่ายรัฐบาลไทยต้องมีเอกภาพระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายความมั่นคงเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง
" ผมเห็นว่า ฝ่ายรัฐบาลยังขาดเอกภาพ ข้อตกลงทุกข้อต้องมีการลงนามรับรองจากทั้งสองฝ่ายสังคมนานาชาติต้องมีบทบาทมากกว่าแค่ผู้สังเกตหรือพยาน แต่ต้องสามารถให้คำชี้แนะและการสนับสนุน องค์กรทางสังคม บุคคลสำคัญ พรรคการเมือง ฯลฯ ต้องให้การสนับสนุนกับกระบวนการสันติภาพ บีอาร์เอ็นยืนหยัดในการแก้ไขความขัดแย้งโดยอาศัยวิธีการทางการเมืองผ่านการเจรจา และบีอาร์เอ็นขอร้องให้รัฐบาลไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและรับฟังเสียงของประชาชนเพื่อให้ความใฝ่ฝันของประชาชนเป็นจริง"
เกี่ยวกับคำถามที่ว่า บีอาร์เอ็นต่อสู้ทางการเมืองโดยละทิ้งการต่อสู้ทางอาวุธได้ไหม คำตอบก็คือ “อาจจะได้” ถ้าหากว่า รัฐบาลไทยรับฟังเสียงของประชาชนปาตานีและยอมรับเสียงเหล่านี้จนถึงคนปาตานีมีรูปแบบการปกครองที่สะท้อนความใฝ่ฝันของพวกเขา
ขณะที่นายกัสตูรี มะห์โกตา หัวหน้าขบวนการ Pulo หรือ พูโล กล่าวว่า พัฒนาการทางการเมืองโลกส่งผลกระทบต่อ พูโล และขบวนการปลดปล่อยทั่วโลกและปาตานี โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 11 กันยา หลังจากเหตุการณ์นั้น รัฐบาลไทยเริ่มการกดขี่ และพยายามจะเชื่อมขบวนการในพื้นที่กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายโลกที่มีแนวคิดสุดโต่ง แต่การใช้ความรุนแรงโดยรัฐบาลไทยและการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินละเมิดเสรีภาพและไม่ยึดหลักมนุษยธรรม จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาและป้องกันเหตุนองเลือดที่ปาตานี สิ่งที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงและความโหดร้ายก็คือพินาศกรรมและยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
แนวทางแก้ไขทางเดียวที่รัฐบาลชุดนี้กำลังดำเนินอยู่นั้นไม่สามารถดับไฟแห่งการต่อสู้อย่างถาวร การแก้ไขอันแท้จริงต้องเกิดจากการเจรจา การพูดคุยและข้อตกลงอย่างจริงใจและมีความรับผิดชอบจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การแก้ไขที่ยุติธรรม ยั่งยืนและครอบคลุม
นายกัสตูรี กล่าวว่า พูโลเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพทุกรูปแบบ พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับรัฐบาลไทยเพื่อเจรจาโดยไม่ตั้งเงื่อนไขอะไรเพื่อประโยชน์ของชาติปาตานี ผมได้เข้าร่วมการเจรจาหลายรอบ และผมมองว่า กระบวนการเจนิวา มีความก้าวหน้ากว่าครั้งก่อนและรอบปัจจุบัน เพราะ มีกระบวนการเจนีวาสามารถสร้างแนวทางเดียวกันได้ระหว่างบีอาร์เอ็น-ซีกับพูโล มีการพบปะกับนายกรัฐมนตรีเอง (พ.อ. สุรยุทธ์ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2007 ที่ประเทศบาห์เรน มีส่วนร่วม (inclusivity) ของ CSO, NGO นักการเมือง นักวิชาการต่าง ๆ ซึ่งกระบวนการเจนีวาสามารถให้มีการหยุดยิงในปี 2010 ในพื้นที่สีแดง ได้แก่ อ. ระแงะ อ. เจาะไอร้องและ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส และมีตัวแทนจากพลเรือน (สมช.) และฝ่ายทหาร โดยมีการอำนวยความสะดวกขององค์กร Humanitarian Dialogue Center
"ผมเห็นด้วยกับความเห็นของ อ. มาร์ค ตามไท แต่ฝ่ายไทยก็ต้องจริงใจในเรื่อง inclusivity ด้วย ก่อนหน้านี้มีแต่ฝ่ายพลเรือนและทหาร แต่กระบวนการสันติภาพจำเป็นต้องมีการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่มีอำนาจในประเทศ การที่เราไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จเท่าที่ควรก็เพราะยังไม่มีการมีส่วนร่วมอย่างจริงใจจากฝ่ายรัฐไทย
กระบวนการเจรจาจำเป็นและสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานี แต่กระบวนการปัจจุบันไปทางพัฒนาประเทศชาติ แต่ไม่พยายามแก้ไขปัญหาอันแท้จริง ปาตานีตกเป็นอาณานิคมของสยาม และสยามต้องยอมรับว่า ปาตานีเคยเป็นรัฐที่เอกราชและมีอธิปไตย แต่ปัจจุบัน มีความพยายามปกปิดความเป็นจริงตรงนี้ แล้วจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ตอนนี้กระบวนการสันติภาพก็เสมือนหมอที่ให้ยาโดยไม่วินิจฉัยโรค แก้ไขไม่ตรงจุด แล้วจะจบลงเมื่อไร"
นายกัสตูรี กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยวิธีการทางการเมือง ไม่ใช่แค่ต้องมีแนวคิด inclusivity แต่ต้องมีเจตจำนงทางการเมืองด้วย ทั้งสองฝ่าย (คู่กรณี) ยังไม่แสดงเจตนำนงทางการเมืองที่ชัดเจน และยังไม่มี inclusivity ที่จริงใจด้วย นักต่อสู้ปาตานี พร้อมที่จะสร้างความไว้วางใจกับศัตรู แต่ไม่ยอมสร้างความไว้วางใจในหมู่นักต่อสู้กันเอง ฝ่ายสยามขาดเอกภาพเพราะแย่งชิงงบประมาณ ส่วนฝ่ายขบวนการก็แย่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐปาตานี (ในอนาคต) แต่กระบวนการสันติภาพที่ขาดเอกภาพก็จะไม่ประสบความสำเร็จดังเช่นกรณีของปาเลสไตน์และพื้นที่อื่นๆ ถ้าจะแก้ไขปัญหาจริง ๆ เราก็ต้องหยิบยกประเด็นรากเหง้ากว่าจะสามารถก้าวหน้าได้อีก
"ถามว่าเราจะวางอาวุธได้หรือไม่ พูโลเคยวางอาวุธในกระบวนการเจนิวา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หลังจากเราวางอาวุธ สยามก็ไม่ยอมรับพูโลอีกต่อไป เพราะเราไม่มีอาวุธอีกแล้ว แต่สนใจบีอาร์เอ็นแทนเพราะพวกเขามีอาวุธ
ถามว่า จะจัดตั้งพรรคการเมืองมลายูปาตานีจะได้หรือไม่ ผมขอชี้แจงว่า การต่อสู้ของพวกเราคือการต่อสู้ครอบคลุ่มทั้งหมด ถ้าเราจัดตั้งพรรคการเมือง ก็หมายความว่า เรายอมรับรัฐธรรมนูญของไทยแล้ว และไม่จำเป็นต้องพูดคุย
นายกัสตูรี ย้ำว่า พูโล ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1968 เพื่อปกป้องประชาชนและปลดปล่อยปาตานี ไม่ใช่องค์กรก่อการร้ายเพื่อก่อให้เกิดการก่อการร้าย พูโลพร้อมที่จะเจรจากับฝ่ายใดก็ตามที่พร้อมที่จะแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาของประชาชนปาตานี ตราบใดที่มีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม แต่เราก็ไม่อาจจะเสี่ยงศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยธรรมของประชาชนปาตานีดังเช่นประกันไว้อยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ ณ ตอนนี้การแก้ไขปัญหาที่ปาตานีก็เป็นแนวทางแก้ไขฝ่ายเดียวจากรัฐบาลในรูปแบบของคำสั่งเท่านั้น โดยไม่เคยสะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่
"พูโลไม่มีปัญหาที่จะเจรจากับรัฐบาลลักษณะไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นรั้ฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหาร แต่ในการเจรจา ขอให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ทั้งจากฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร เราก็พร้อมที่จะรับการหยุดยิง แต่มีเงื่อนไขว่า 1.ต้องมีการติดตามเฝ้าระหว่างของสังคมนานาชาติ เพื่อไม่ให้เกิดการกล่าวหากันในเมื่อเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงหยุดยิง 2.ทหารไทยต้องออกจากพื้นที่หลังจากมีข้อตกลงการหยุดยิง และ 3.ถ้าการหยุดยิงประสบความสำเร็จ รัฐบาลไทยต้องยกระดับกระบวนการให้เป็นกระบวนการทางการเมืองเพื่อหาแนวทางแก้ไข" ผู้นำพูโล กล่าวย้ำ
ขณะที่นายอาบู ฮาฟิช อัล กาฮิม แกนนำกลุ่ม BIPP และโฆษกกลุ่มมารา ปาตานี กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 ก.พ.2556 เป็นการพูดคุยอย่างเป็นทางการที่รับรู้กันโดยทั่วไป ซึ่งมีข้อโดดเด่น คือข้อเสนอ 5 ข้อของขบวนการ BRN ซึ่งเวลานั้น ตัวเขาช่วยทำงานอยู่เบื้องหลัง เพราะการพูดคุยครั้งนั้น มี PULO,BIPP อยู่เบื้องหลังด้วย และมี 3 ประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครทราบ คือ
1.เอกสาร 38 หน้า เป็นคำอฑิบายของข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ที่ BRN เสนอในการเชิญองค์กรที่เกี่ยวข้องกับปาตานีมารวมกัน ซึ่งถ้าหากการพูดคุยตอนนั้นไม่สะดุด ก็คงไม่มี Mara Patani
2.เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2013 มีหนังสือจากพล.ท.ภราดร ไปถึง ดาโต๊ะ ซัมซามิน ผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย ที่ระบุว่า รัฐไทย จะนำข้อเสนอ 5 ข้อของ BRN ไปพิจารณา แล้วนำกลับมาคุยในอนาคต
3.มี TOR ที่ระบุชื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอบต.และอุสตาส อาวัง จาบัท จาก BRN มาเป็นกรรมการในการพิจารณา ซึ่งต่อมากลายเป็นที่มาของการจัดตั้ง Mara Patani เพราะข้อตกลงเหล่านั้น หยุดชะงักลงจากการัฐประหาร รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุติบทบาทลง เปลี่ยนมาเป็น รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีการประสานที่จะพูดคุยต่อ ซึ่งมีชื่อนายอาวัง จาบัต ทำหน้าที่ประสานงานจนเกิด มารา ปาตานี ขึ้นในเดือนมีนาคม 2015 และเริ่มมีการพบปะกันครั้งแรกกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ระหว่างปี 2015-2019 ที่อยู่ระหว่างการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และเริ่มพูดคุยถึง พื้นที่ปลอดภัย หรือ Safty Zone และคณะกรรมการ JAC ที่จะประสานความร่วมมือให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย หลังจากนั้นมีการพักโทษ ให้ 3 นักโทษ ขบวนการ BRN
นายอาบู ฮาฟิช ในฐานะโฆษกมารา ปาตานี เล่าถึงพัฒนาการการทำงานของมารา ปาตานี ซึ่งยอมรับว่าในปี 2018-2019 การพูดคุยติดขัดไม่ราบรื่น จนเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยมาเป็น พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ จนหลังการเลือกตั้ง จึงเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยมาเป็น พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ และในฝ่ายขบวนการ ก็เปลี่ยนกับมาพูดคุยกับ BRN โดยตรง
อาบู ฮาฟิช ยอมรับว่า การพูคุยสันติภาพยังคงต้องมี ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลจำเป็นต้องมีเสถียรภาพทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองไทยและมาเลเซีย รวมทั้งต้องมีการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และต้องมีเจตน์จำนงทางการเมืองที่ชัดเจน และยังเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อไป โดยทิ้งท้ายว่า
" We cannot change the past but we can shape the future together"
พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง อดีตเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่ปัจจุบันอยู่นอกวงการพูดคุยไปแล้ว ยอมรับว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ล่้าช้า อาจมีปัญหาอุปสรรคมาจากการเมืองภายในประเทศที่ทำให้ความสนใจเรื่องใต้เป็นรองลงไป แต่ผลจากการเริ่มต้น ทำให้ยังมีการพูดคุย เชื่อว่า ทุกรัฐบาลต้องการให้การพูดคุยสำเร็จ และ 5 ข้อที่บีอาร์เอ็นเสนอในครั้งนั้น เร็วเกินไป และกองทัพได้ตอบคำถาม 5 ข้อไปแล้ว ดังนั้นการทำให้การพูดคุยสำเร็จจะต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ และต้องมีโรดแมปที่ชัดเจน รวมทั้งคนที่ทำงานสันติภาพควรเป็นคนที่ทำงานต่อเนื่อง
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และอาจารย์ประจำสถานวิจัยความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อดีตคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพในปี 2013 เห็นว่า 28 ก.พ.2556 เป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่ให้เห็นถึงแนวทางสันติวิธี แม้ยังไม่สามารถพูดคุยถึงปัญหาหลักทั้งเรื่องอัตลักษณ์ การมีส่วนร่วมโดยตรงและยังไม่เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเปลี่ยนแนวคิดของฝ่ายการเมือง ที่ยอมรับว่าในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แม้จะมีการคุยมากกว่า 20 ครั้ง แต่แนวคิดเรื่องสันติภาพเปลี่ยนไป เห็นจากการใช้คำว่า สันติสุขมาแทน ดังนั้นฝ่ายรัฐบาลต้องทบทวน roadmap ที่ต้องมองเห็นผลสัมฤทธิ์และเป้าหมายคืออะไร การพูดคุยเพื่อสันติภาพจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อไป "Just do it"
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ เห็นว่า ควรนำจดหมายที่ไทยทำถึง BRN ที่จะพิจารณา 5 ข้อเสนอมาทบทวนเพื่อทำต่อ รวมถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ mara patani ได้ทำไว้ โดยฝ่ายการเมือง พรรคการเมือง ต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นจ
ขณะที่ รศ.ดร. มาร์ค ตามไท เห็นว่า คุณูปการจาก 8 ปีก่อน คือ การพูดคุยยังอยู่ต่อไป แต่ช้ามาก ในเชิงงบประมาณ ต้องมาดูว่าทำไมถึงช้า จึงต้องวางเป้าหมายให้ชัดว่า ไม่ใช้ความรุนแรง และย้ำว่า ถ้าไม่รู้ว่า การพูดคุยนี้คืออะร ถ้าไม่เริ่มจากตรงนี้ก็หาคนไม่ตรง และจุดจบของการพูดคุยคือจุดเริ่มต้น ที่ต้องรู้ว่า เป้าหมายสุดท้ายของการพูดคุยคือการวางกติการ่วมกันของการสร้างสันติภาพ