พื้นที่ทางการเมืองแบบเป็นทางการของผู้หญิงมลายูมุสลิมชายแดนใต้: บทบาท โอกาส และข้อท้าทาย

สกสว.

 

บทคัดย่อ

งานวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องพื้นที่ทางการเมืองแบบเป็นทางการของผู้หญิงมลายูมุสลิมชายแดนใต้: บทบาท โอกาส และข้อท้าทาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คำถามวิจัยของงานชิ้นนี้ต้องการตอบคำถามว่าเพราะค่านิยมที่อยู่บนฐานคิดของอัตลักษณ์ความเป็นมลายูหรือความเป็นมุสลิมหรือไม่ที่ส่งผลต่อการเข้าสู่พื้นที่การเมืองแบบทางการไม่มากนักหรือว่าเป็นฐานคิดที่คล้ายคลึงกับประเทศไทยโดยรวมที่แม้ไม่ใช่มลายูมุสลิมแต่ก็มีข้อจำกัดทางการเมืองเช่นเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทและวิเคราะห์ถึงการขับเคลื่อนและข้อจำกัดในพื้นที่ทางการเมืองแบบทางการของผู้หญิงมลายูมุสลิมท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งชายแดนใต้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงพ.ศ. 2563

ผลการวิจัยพบว่า ความเป็นผู้หญิงภายใต้ ความเป็นมลายู ความเป็นมุสลิมและวัฒนธรรมในสังคมไทย ล้วนแล้วแต่เป็นชั้นของวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการมีบทบาทของผู้หญิงในพื้นที่การเมืองแบบทางการ ฐานคิดของอัตลักษณ์ความเป็นมลายูที่มีความใกล้ชิดกับความเป็นมุสลิมของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีอิทธิพลต่อการที่ผู้หญิงจะเข้าไปในทางการเมือง กล่าวคือ การตัดสินใจของทั้งตัวผู้หญิงที่เข้าไปในพื้นที่ทางการเมืองและสังคมที่จะเลือกผู้หญิงเข้าไปในพื้นที่ทางการเมืองแบบทางการมีการคำนึงถึงอัตลักษณ์ความเป็นมลายูรวมถึงมุสลิม แม้ว่าจะดูเหมือนความเป็นสังคมมลายูจะยอมรับบทบาทของผู้หญิงในสังคมหรือในพื้นที่สาธารณะแล้ว แต่ในตำแหน่งของผู้นำในเชิงการเมืองก็ยังคงมีการมองที่ยึดกับภาพของความเป็นผู้ชายอยู่ นอกเหนือจากนั้นการมองบทบาทของผู้หญิงมุสลิมก็มักจะถูกถ่ายทอดในมุมมองที่ส่งเสริมการดูแลครอบครัวเสียมากกว่า ซึ่งในที่นี้ยังรวมไปถึงการที่มองว่าถึงที่สุดแล้วหากไม่มีความจำเป็น ผู้หญิงก็อาจจะไม่เหมาะที่จะเข้าไปมีบทบาทในการเป็นผู้นำทางการเมือง ประกอบเข้าไปกับโครงสร้างการเมืองไทยที่มีลักษณะของการมีนักการเมืองที่มักจะเป็นชาย จึงไม่แปลกที่จะเห็นว่านักการเมืองหญิงที่มีโอกาสเข้าไปในพื้นที่การเมืองแบบทางการมักจะต้องมีทุนที่เกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่งโดยเฉพาะเป็นครอบครัวเดียวกับนักการเมืองเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นแล้วการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงมลายูมุสลิมจึงนับได้ว่าเป็นเรื่องที่ดูท้าทายทั้งจากชั้นวัฒนธรรมของศาสนา ค่านิยมในสังคมมลายู รวมถึงสังคมการเมืองของไทย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเวลาในการถกเถียงเพื่อนำไปสู่กรอบคิดหรือคุณค่าแบบใหม่ ที่จะส่งผลต่อการมีส่วนร่วมมากขึ้นของผู้หญิงมลายูมุสลิมในพื้นที่การเมืองแบบทางการต่อไป