สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้านผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และมาตรการของรัฐ พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 75 ได้รับผลกระทบด้านการประกอบอาชีพ ร้อยละ 83.6 ระบุมีรายได้ลดลง และบางส่วนร้อยละ 18.2 ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการและการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ แต่ยังพออยู่ได้ด้วยการช่วยเหลือกันในชุมชน โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 47.8 เห็นว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมที่พอจะรับสถานการณ์ได้ คือประมาณ 1-4 สัปดาห์ พร้อมให้คะแนนความพึงพอใจต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล 6.39 เต็ม 10
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 63 ได้มีการแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนด้านผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และมาตรการของรัฐ ซึ่งดำเนินการโดย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “การสำรวจครั้งนี้เป็นการสอบถามความเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 820 ตัวอย่างจาก 164 ชุมชนในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวีและ อ.สะบ้าย้อย ระหว่างวันที่ 21 พ.ค. – 5 มิ.ย. 2563 ถือเป็นการศึกษาการสนองตอบของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรงต่อมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในด้านผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ รายได้ ตลอดจนความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คน แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวดในพื้นที่แห่งนี้ที่ยังคงมีปัญหาความขัดแย้งรุนแรงและมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงก็ตาม”
ประชาชนกว่าหนึ่งในสามได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจมากที่สุด
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้กล่าวถึงผลการสำรวจโดยเฉพาะผลกระทบจากสถานการณ์โควิดและมาตรการของรัฐต่อประชาชนที่เห็นได้ชัดเจนคือ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งแต่เดิมประชาชนในพื้นที่โดยส่วนใหญ่มีรายได้น้อย อัตราความยากจนสูงถึงร้อยละ 34 ของประชากร เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด การประกอบอาชีพและรายได้ของประชาชนจึงได้รับผลกระทบอย่างสูงและขยายวงกว้าง โดยมีผู้ตอบมากถึงร้อยละ 75.6 ที่ระบุว่าได้รับผลกระทบด้านอาชีพ และร้อยละ 83.6 ระบุว่ามีรายได้ลดลง ในขณะที่ร้อยละ 49.9 ระบุว่ามีรายจ่ายของครอบครัวเพิ่มมากขึ้น
สำหรับลักษณะของผลกระทบด้านการประกอบอาชีพจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พบว่า ร้อยละ 18.8 ของผู้ตอบระบุว่า ไม่สามารถออกไปทำเกษตรหรือประมงได้ ส่วนร้อยละ 14.3 ถูกพักงานชั่วคราว ร้อยละ 12.8 ไม่มีใครจ้างงาน และร้อยละ 9.9 จำเป็นต้องเลิกค้าขาย
ในด้านการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน พบว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่ (ร้อยละ 52.3) ระบุว่าได้รับผลกระทบด้านการศึกษาของตัวเองหรือบุตรหลานมาก รวมไปถึงด้านการเดินทางออกนอกพื้นที่ (ร้อยละ 49.5) การเดินทางไปประกอบอาชีพหรือทำเกษตร (ร้อยละ 43.4) การไปจับจ่ายซื้อของในชีวิตประจำวัน (ร้อยละ 37.6) และการปฏิบัติศาสนกิจ (ร้อยละ 31.1)
ในด้านความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ ผลการสำรวจยังพบอีกว่า ประเด็นที่ประชาชนวิตกกังวลมากที่สุดคือเรื่องการเดินทางที่ลำบากมากขึ้น (ร้อยละ 82.9) รองลงมาคือกังวลว่าไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ตามปกติที่มัสยิดหรือวัด (ร้อยละ 67.4) และกังวลว่าจะถูกกักตัวเพื่อเฝ้าระวังการติดโรค (ร้อยละ 61.1) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แม้จะยังมีอยู่ โดยมีผู้กังวลร้อยละ 47.2 แต่ระดับความกังวลไม่มากเท่ากับความกังวลด้านผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค
ประชาชนสนับสนุนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด แต่ก็ต้องไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน
สำหรับความคิดเห็นต่อมาตรการของรัฐในการป้องกันการแพร่ระบาด มาตรการที่ประชาชนเห็นด้วย 5 อันดับแรกได้แก่ 1) การต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน (ร้อยละ 93.8 ระบุเห็นด้วย) 2) การให้เงินชดเชยและสวัสดิการแก่ประชาชนที่เดือดร้อนจากมาตรการควบคุมโรค (ร้อยละ 92.3) 3) การห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 88.9) 4) การปิดหมู่บ้านที่มีผู้ติดเชื้อ (ร้อยละ 86.8) และ 5) การห้ามเดินทางออกนอกประเทศ (ร้อยละ 85.6)
ในขณะที่มาตรการที่ประชาชนไม่เห็นด้วยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) การให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์/ทางไกลในปีการศึกษาใหม่ (ร้อยละ 54.1) 2) การปิดบริการขนส่งมวลชนสาธารณะทุกประเภท (ร้อยละ 47.3) 3) การงดละหมาดที่มัสยิด (ร้อยละ 46.2) 4) การห้ามขายอาหารในร้าน (ร้อยละ 41.8) 5) การห้ามออกจากบ้านระหว่างเวลา 22.00 – 4.00 น. (ร้อยละ 36.7)
คนชายแดนใต้บางส่วนยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ แต่อยู่ได้ด้วยตาข่ายนิรภัยทางสังคม
จากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ผศ.ดร.ศรีสมภพวิเคราะห์ว่า การมีสวัสดิการจากรัฐและการช่วยเหลือกันของคนในชุมชนเปรียบเสมือนตาข่ายนิรภัยรองรับความเจ็บป่วยทางสังคมเศรษฐกิจและจิตใจ (Social Safety Net) ซึ่งผลการสำรวจพบว่า สวัสดิการที่ประชาชนได้รับ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) เป็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนมากถึงร้อยละ 73.1 ได้รับ รวมไปถึง สวัสดิการด้านสุขภาพจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่มีผู้ได้รับสิทธิ ร้อยละ 57.1 และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ร้อยละ 34.9 นอกจากนี้ ในส่วนของการได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท อันเป็นมาตรการเยียวยาในช่วยวิกฤติโควิด-19 พบว่ามีกลุ่มผู้ตอบร้อยละ 60.2 สมัครและได้รับเงินช่วยเหลือแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ตอบอีกร้อยละ 18.2 ที่สมัครแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงิน คนกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องมีการติดตามและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม ในด้านความช่วยเหลือของคนในชุมชน พบว่า ผู้ตอบร้อยละ 69.9 ระบุว่าเคยได้รับของบริจาคหรือถุงยังชีพ การได้รับบริจาคที่ครอบคลุมเช่นนี้อาจมาทั้งจากหน่วยงานของรัฐและการช่วยเหลือบริจาคจากประชาชนด้วยกันเองและกลุ่ม/องค์กรการกุศล หรือองค์กรด้านศาสนาและมนุษยธรรมอื่น ๆ ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต้นทุนทางสังคมและชี้ให้เห็นฐานของความยึดเหนี่ยวกันทางสังคมที่ดำรงอยู่แต่เดิม
ประชาชนยังอยู่ได้ แต่ให้เวลาอีกเพียง 1 เดือน
ระยะเวลาที่ประชาชนต้องทนรับสภาพสถานการณ์ต่อไปได้นั้นค่อนข้างจำกัด ผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบร้อยละ 57.1 ระบุว่ายังคงรับได้หากสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมโรคยังคงอยู่ต่อไปอีก 1 เดือน ในขณะที่เกือบครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 42.9 ระบุว่า ไม่สามารถทนรับสถานการณ์ได้ต่อไปอีก 1 เดือน ผู้ตอบส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.8 มีความเห็นว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมที่ประชาชนจะพอรับได้ คือประมาณ 1-4 สัปดาห์หรือหนึ่งเดือน (นับจากช่วงเวลาที่สำรวจคือปลายเดือนพฤษภาคม)
คะแนนความพึงพอใจต่อการทำงานด้านการป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาล
อาจกล่าวโดยภาพรวม ด้วยผลคะแนนความพึงพอใจกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาล พบว่า ประชาชนให้คะแนนที่ค่าเฉลี่ย 6.39 จากคะแนนเต็ม 10 โดยหน่วยงานที่ประชาชนพึงพอใจในผลงานการแก้ปัญหามากที่สุด ได้แก่ หน่วยงานสาธารณสุขและอสม. (ร้อยละ 54.4) ผู้นำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน (ร้อยละ 16) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) (ร้อยละ 10.5)
- - - - -
ติดต่อรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : คุณอิมรอน ซาเหาะ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-869-6584 E-mail: imron.s@psu.ac.th, imron.zahoh@gmail.com
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงผลได้ที่ https://cscd.psu.ac.th/th