16 ปีไฟใต้...ชาวบ้านกว่าครึ่งไม่รู้-ไม่อยากพูด "ใครตัวการก่อรุนแรง"

16 ปีไฟใต้...ชาวบ้านกว่าครึ่งไม่รู้-ไม่อยากพูด "ใครตัวการก่อรุนแรง"

สำนักข่าวอิศรา

 

ควันหลงจากการแถลงผลสำรวจสันติภาพชายแดนใต้ หรือ Peace Survey ครั้งที่ 5 เมื่อวันสุดท้ายของเดือน ก.พ.ปี 63 มีข้อสังเกตน่าสนใจเกี่ยวกับการตอบคำถามว่าอะไรคือสาเหตุของความรุนแรงที่ปลายด้ามขวาน

เพราะประชาชนส่วนใหญ่เลือกตอบว่า "ไม่รู้" และ "ไม่ขอตอบ"

คำถามที่ว่าอะไรเป็นสาเหตุความรุนแรงชายแดนใต้นี้ ผู้ทำสำรวจให้ตอบตัวเลือกที่ประชาชนคิดว่าสำคัญที่สุด 3 ตัวเลือก ปรากฏว่า กลุ่มค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน และผู้มีอิทธิพล มีประชาชนเลือกให้เป็นสาเหตุความรุนแรงมากที่สุด ร้อยละ 25.9 รองลงมาคือ ทหารพราน ร้อยละ 16.2 และขบวนการบีอาร์เอ็น ร้อยละ 15.3 ส่วนผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ อยู่ในอันดับ 4 ร้อยละ 12.9

ต้นเหตุความรุนแรง 3 อันดับในสายตาของชาวบ้านที่มองว่าแก๊งค้ายาเสพติด กับทหารพราน อาจจะเกี่ยวพันกับการสร้างความรุนแรงมากกว่าบีอาร์เอ็นเสียอีกนี้ ได้กลายเป็นประเด็นที่ ส.ส.ฝ่ายค้านอย่าง นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ หยิบไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อปลายเดือน ก.พ. ก่อนที่ผลสำรวจจะถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการ

แต่ประเด็นที่ ส.ส.นราธิวาส ไม่ได้หยิบไปพูดก็คือ ผู้ที่ตอบคำถามนี้ว่า "ไม่รู้" และ "ไม่ขอตอบ" ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 55.5 หรือมากกว่าครึ่งของประชาชนที่ทำการสำรวจทั้งหมด ซึ่งสะท้อนภาพอีกด้านของสถานการณ์ในดินแดนปลายด้ามขวาน

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี หัวหน้าโครงการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ Peace Survey และนักวิจัยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังลังเลใจหรือมีความระมัดระวังตัวมากในการตอบคำถามที่มีความอ่อนไหวสูงเช่นนี้ เนื่องจากคำถามเป็นการให้ระบุตัวแสดงที่แท้จริงในการก่อความรุนแรงในสถานการณ์ที่ยังไม่มีหลักประกันความปลอดภัย ผู้ตอบจึงยังมีความอ่อนไหวมาก และมีแนวโน้มที่จะเลือกด้วยการไม่ตอบ ถือเป็น "เสียงเงียบที่จะต้องให้ความสนใจ"

สำหรับการสำรวจ Peace Survey เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ 24 องค์กร โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสันติวิธีและธรรมภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 59 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กระบวนการสันติภาพดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนที่เกี่ยวข้องและอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

การสำรวจครั้งที่ 5 นี้ ดำเนินการในช่วงเดือน ก.ย.ถึง ต.ค. ปี 62 โดยสอบถามความคิดเห็นของประชาชนอายุระหว่าง 18-70 ปี ที่อาศัยอยู่ใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา จำนวน 1,637 คน

สำหรับผลสำรวจที่น่าสนใจในประเด็นอื่นๆ ก็เช่น ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 72.8 รู้สึกว่าสถานการณ์ชายแดนใต้เหมือนเดิมและแย่ลง, ความนิยมของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลดลงมากที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ได้คะแนนเฉลี่ย 4.21 จากคะแนนเต็ม 10

ประชาชนร้อยละ 55.1 ยังเชื่อมั่นว่า การพูดคุยเจรจาจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ร้อยละ 21 ไม่แน่ใจ เพราะการพูดคุยในช่วงปีที่ผ่านมายังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร ขณะที่ร้อยละ 38.7 ยังมีความหวังว่าจะเกิดข้อตกลงสันติภาพในอีก 5 ปีข้างหน้า ร้อยละ 59.4 กังวลว่าการพูดคุยจะไม่สามารถยุติความรุนแรงได้จริง และร้อยละ 57.1 กังวลว่าอาจทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นกว่าเดิม

สำหรับข้อเสนอแนะของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหา ร้อยละ 37.1 เห็นว่า จำเป็นมากที่จะต้องมาพูดคุยกันถึงเรื่องรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในพื้นที่ โดยในจำนวนนี้ รูปแบบที่มีผู้ตอบแบบสอบถามต้องการมากที่สุดคือ อยากเห็นการปกครองที่มีการกระจายอำนาจมากขึ้น โดยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่ซึ่งแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ โดยที่ยังอยู่ในกรอบกฎหมายของไทย เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือเขตปกครองพิเศษ

ส่วนมาตรการที่ควรเร่งดำเนินการ 3 อันดับแรกเพื่อแก้ปัญหา คือ ควรสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน ร้อยละ 80, การหลีกเลี่ยงการก่อเหตุรุนแรงกับเป้าหมายอ่อน ซึ่งหมายถึงประชาชนที่ไม่มีอาวุธ ร้อยละ 75.9 และป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ร้อยละ 71.6

ประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.9 เห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว คือสร้างรายได้ ส่งเสริมอาชีพ และแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ ขณะที่ร้อยละ 73.4 แก้ปัญหายาเสพติด และร้อยละ 38.5 ปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของคนในพื้นที่