นำเสนอโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในยกที่ 2 กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย หลังไทยเปิดตัวกลุ่มบีอาร์เอ็นร่วมโต๊ะเจรจารอบใหม่ ทว่าโพลล์ของเครือข่ายวิชาการกลับสะท้อนว่าประชาชน 37.9% หมดหวังจะเห็นสันติภาพเกิดขึ้นภายใน 5 ปีนี้
การพลิกกลับไปเปิดฉากเจรจาโดยตรงกับกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือบีอาร์เอ็น ของรัฐไทยถูก พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ อธิบายไว้ว่าเพราะเป็น "กลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดในขบวนการผู้เห็นต่าง"
พล.อ.วัลลภเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า คณะบีอาร์เอ็นที่พบปะกันเมื่อ 20 ม.ค. 2563 แนะนำตัวว่า "เป็นผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย และผู้อำนวยความสะดวก (มาเลเซีย) ก็ให้การรับรอง ทำให้ผมมีความเชื่อมั่นในคู่พูดคุย"
นอกจากนี้ ในระหว่างที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ฝ่ายไทยเดินสายไปพบปะผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 11-13 ก.พ. ก็พบว่าส่วนใหญ่ไม่มีผู้ใดกังขาต่อสถานะของคู่พูดคุยว่าเป็นตัวจริง จึงรู้สึกได้ว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นพยายามสื่อสารให้สาธารณชนเห็นว่าพร้อมแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
ตลอดเดือน ม.ค. และหลังเปิดตัวกลุ่มบีอาร์เอ็นในฐานะคู่สนทนาหลัก พล.อ.วัลลภซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ชี้ว่ายังไม่พบการก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ ส่วนเหตุร้ายรายวันก็ลดลง จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีในการเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยฯ รอบใหม่ พร้อมแสดงความคาดหวังให้ทุกฝ่ายหันไปให้ความสำคัญในประเด็นสารัตถะเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง โดยก้าวพ้นระยะของการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องตัวจริง-ตัวปลอม
ไทยต้องการแสดงความจริงใจ
กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างเปิดเผยดำเนินการมาครบ 7 ปีเต็มเมื่อวานนี้ (28 ก.พ.) หลังจากรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปิดเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อปี 2556 ก่อนหยุดชะงักลงชั่วขณะ แล้วกลับมาฟื้นกระบวนการพูดคุยรอบใหม่ในยุครัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 27 ส.ค. 2558 ซึ่งมีการเปิดตัวฝ่ายผู้เห็นต่างที่เรียกตัวเองว่า "มารา ปาตานี" แต่แล้วกระบวนการก็ต้องชะงักงันอีกหนเมื่อ ก.พ. 2562 ก่อนที่รัฐไทยจะเปลี่ยนมาเปิดเกมพูดคุยโดยตรงกับกลุ่มบีอาร์เอ็นอีกครั้งเมื่อ 20 ม.ค. 2563
แม้การเมืองภาพใหญ่ของมาเลเซียมีการเปลี่ยนแปลง หลัง ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เมื่อ 24 ก.พ. แต่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ที่มี พล.ต.อ.ตัน สรี อับดุล ราฮิม บินโมฮัมหมัด นูร์ เป็นหัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวก ยังเดินหน้าตามกำหนดเดิมในวันที่ 4 มี.ค. เนื่องจากมีการนัดหมายกันไว้ล่วงหน้าแล้ว
พล.อ.วัลลภระบุว่า คณะพูดคุยไม่ได้มองว่าการเรียกกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นการรับรองสถานะให้องค์กรดังกล่าว แต่ถือเป็นการให้เกียรติคู่พูดคุย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เปิดพื้นที่รับฟังปัญหาคับข้องใจ และแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธีแทนการใช้ความรุนแรง
ส่วนการเชิญบุคคลที่ 3 มาร่วมโต๊ะพูดคุยในฐานะผู้สังเกตการณ์ นอกจากมาเลเซียที่อยู่ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก พล.อ.วัลลภให้เหตุผลว่าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มบีอาร์เอ็น และแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ โดยคนเหล่านั้นจะมาในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่ในนามองค์กร หรือประเทศ พร้อมระบุว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายในประเทศ
"การมีผู้เชี่ยวชาญไม่ใช่อุปสรรค แต่จะช่วยประคับประคองให้กระบวนการพูดคุยฯ คืบหน้ามากขึ้น" พล.อ.วัลลภกล่าวกับบีบีซีไทย
38.7% VS 37.9% เห็น-ไม่เห็น สันติภาพใน 5 ปี
ด้านเครือข่าย PEACE SURVEY เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ หรือ PEACE SURVEY ครั้งที่ 5 พบว่า ประชาชนเกินกว่าครึ่งสนับสนุนให้ใช้การเจรจาพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา โดยมี 38.7% ที่มีความหวังและมีความหวังมากว่าจะเกิดข้อตกลงสันติภาพภายใน 5 ปีนี้ แต่ก็มีประชาชนในสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ 37.9% ค่อนข้างไม่มีความหวังและไม่มีความหวังเอาเสียเลยว่าจะได้เห็นข้อตกลงดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม คนในพื้นที่ปลายด้ามขวานได้แสดงความกังวลใจหลายประการ โดย 59.4% คิดว่ากระบวนการพูดคุยสันติสุขไม่สามารถยุติความรุนแรงได้ 57.1% กังวลว่าจะทำให้สถานการณ์รุนแรงกว่าเดิม ส่วน 53.8% กังวลว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่ทำตามข้อตกลง
การเก็บข้อมูล PEACE SURVEY ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 11 ก.ย.-15 ต.ค. 2562 หรือภายหลังมีการเลือกตั้งทั่วไป และก่อนมีการเปลี่ยนแปลงคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งหัวหน้าทีมฝ่ายไทยและฝ่ายผู้เห็นต่างทางการเมือง มีกลุ่มตัวอย่าง 1,637 คน
คะแนนนิยมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต่ำสุดในรอบ 4 ปี
การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกบรรจุเป็นนโยบายหลักของทุกรัฐบาล รวมถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ในคราวเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมเต็มรูป ก่อนกลายสภาพเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยพบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงมีสถิติลดลง จาก 1,719 ครั้งในปี 2556 เหลือ 411 ครั้งในปี 2562 แต่ประชาชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 72.8 กลับรู้สึกว่าสถานการณ์ "เหมือนเดิม" หรือ "แย่ลง" ในรอบปีที่ผ่านมา และทำให้คะแนนความนิยมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ลดลงด้วยเช่นกัน
ผลสำรวจครั้งล่าสุดระบุว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนนิยมเพียง 4.21 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งถือว่าตกต่ำที่สุดในการสำรวจทั้ง 5 ครั้ง และมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในการสำรวจครั้งที่ 3 เมื่อปี 2560) ที่ทำคะแนนได้ "เกินครึ่ง" หรือได้ 5.31 คะแนน
เชื่อ พ่อค้ายา-ทหารพราน-บีอาร์เอ็น ร่วมกระพือไฟใต้
ในทัศนะของประชาชน องค์กรที่พวกเขาคิดว่าเกี่ยวข้องกับความรุนแรง 3 อันดับแรกคือ 1. กลุ่มยาเสพติด/ค้าของเถื่อน/ผู้มีอิทธิพล 25.9% ซึ่งคนที่คิดเช่นนี้ส่วนใหญ่มีอายุ 41-55 ปี 2. ทหารพราน 16.2% ส่วนใหญ่มาจากความเห็นของผู้มีอายุ 18-25 ปี และ 26-40 ปี และ 3. ขบวนการบีอาร์เอ็น 15.3% ซึ่งคนทุกช่วงอายุเห็นตรงกัน ที่น่าสนใจคือมีประชาชน 55.5% บอกว่าไม่รู้และไม่ขอตอบ โดยผู้วิจัยอธิบายความหมายไว้ว่าคนในพื้นที่ยังลังเลในการตอบคำถามที่มีความอ่อนไหวสูง
รู้สึกไม่ปลอดภัยเวลาคุยคนแปลกหน้า
การสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ถูกใช้เป็นเงื่อนไขและตัวชี้วัดพัฒนาการของกระบวนการพูดคุยสันติสุขมาอย่างต่อเนื่อง น่าสนใจว่าประชาชนมีความรู้สึกปลอดภัยในที่สาธารณะหรือการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดมากน้อยแค่ไหน ผลคือประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกปลอดภัยเวลาอยู่ในศาสนสถาน สถานที่ราชการ และตลาด แต่กลับรู้สึกไม่ปลอดภัยกับการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงขบวนการ วิจารณ์ภาครัฐ หรือพบปะคนแปลกหน้า
การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน จึงเป็นมาตรการที่ประชาชน 80% ต้องการให้รัฐเร่งดำเนินการ ซึ่ง พล.อ.วัลลภก็ยอมรับว่า การลดความรุนแรงโดยเฉพาะต่อพลเรือน เด็ก สตรี และพื้นที่สาธารณะ เป็นหนึ่งในความต้องการของประชาชนในลำดับต้นๆ โดยรัฐบาลก็ต้องการลดความรุนแรงและลดการสูญเสียโดยเร็วที่สุดเช่นกัน
ส่วนมาตรการอื่น ๆ ที่ประชาชนต้องการตามผลโพลล์ อาทิ หลีกเลี่ยงการก่อความรุนแรงกับเป้าหมายอ่อนแอ 75.9% และป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน 71.6%
เครือข่าย PEACE SURVEY ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการลดกำลังทหารในพื้นที่, การยกเลิกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการพักโทษนักโทษคดีความมั่นคง เป็น 3 มาตรการที่ชาวไทยพุทธกับชาวไทยมุสลิมมีความเห็นต่างกันมากที่สุด โดยชาวไทยมุสลิมเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ชาวไทยพุทธจำนวนมากเห็นว่าไม่เร่งด่วน
ปชช. ไม่พบการละเมิดสิทธิในชุมชน แต่กังวลปมซ้อมทรมาน
แม้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในชุมชน แต่ก็มีบางส่วนที่เห็นว่ามีการละเมิดบ้าง ซึ่งกรณีอันลือลั่นในรอบปีหนีไม่พ้น การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่หมดสติระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวที่หน่วยซักถามภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ก่อนเสียชีวิตในอีก 35 วันต่อมาหลังถูกหามตัวส่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จนเกิดข้อสงสัยในหมู่ญาติและประชาชนว่าเขาถูกซ้อมทรมานหรือไม่
สำหรับ 5 รูปแบบที่ประชาชนเห็นว่าเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปรากฏว่ามี 4 ประเด็นที่เป็นผลจากนโยบายและมาตรการของภาครัฐ
- ชาวบ้านถูกซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ 53.4%
- ชาวบ้านเสียชีวิตจากการวางระเบิดของขบวนการ 37.2%
- ชาวบ้านถูกสุ่มตรวจค้นและถ่ายรูปที่ด่านตรวจโดยไม่ได้แจ้งเหตุผล 32.3%
- เจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้าน 29.7%
- การเรียกเก็บข้อมูลหรือภาพถ่ายเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล เช่น การจดทะเบียนซิมการ์ดและถ่ายรูปใบหน้าของเจ้าของโทรศัพท์ การจัดเก็บดีเอ็นเอ 20.4%
หนุนผู้หญิงมีบทบาทสร้างสันติภาพ
ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า ประชาชนกว่า 50% มองว่าผู้หญิงควรมีบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพ โดย 77.3% เห็นว่าผู้หญิงเข้าไปร่วมส่งเสริมอาชีพรายได้และพัฒนาสังคม รองลงมา 72.5% สนับสนุนให้ผู้หญิงดำเนินงานด้านการคุ้มครองสิทธิและความรุนแรงในเด็กเยาวชนและผู้หญิง และ 65.3% ให้ร่วมเยียวยาฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง
ส่วนบทบาทที่ประชาชนเห็นว่าผู้หญิงไม่ควรมีส่วนร่วมมากที่สุดคือ การเคลื่อนไหวในการคุ้มครองสิทธิและการถูกซ้อมทรมาน 37.7% และการเป็นตัวแทนร่วมในการเจรจาสันติภาพ 35.1%
งานเสวนานี้จัดโดยเครือข่าย PEACE SURVEY จำนวน 24 องค์กร ในเวทีสาธารณะที่ใช้ชื่อว่า "ฟังเสียงประชาชน ฟื้นกระบวนการสันติภาพ" จัดขึ้นที่ ม.สงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ทั้งนี้เครือข่ายได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนใน จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มาแล้ว 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2559 รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 7,958 คน
บีอาร์เอ็นย้ำต้องการเอกราช แต่ "เดินโดยลำพังไม่ได้"
เมื่อ 28 ก.พ. เพจ The Reporters โดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ฝ่ายผู้เห็นต่าง ว่า เป้าหมายสูงสุดของกลุ่มบีอาร์เอ็นคือต้องการเอกราช แต่ต้องรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ รวมถึงชาวพุทธ
"บีอาร์เอ็นพยายามสร้างความเข้าใจทุกศาสนา สร้างปาตานีที่สงบสุขอย่างแท้จริง จึงฝากถึงพี่น้องพุทธ มุสลิม และทุกคนว่าเราพยายามทุกสิ่งทุกอย่างในการแก้ปัญหา จึงขอประชาชนอยู่เคียงข้างเรา"
The Reporters รายงานว่า ปีกบีอาร์เอ็นภายใต้การนำของนายอานัส เป็นกลุ่มเดียวกับบีอาร์เอ็นชุดที่มีนายฮัสซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ร่วมกับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 28 ก.พ. 2556
หลังการรัฐประหาร 2557 บีอาร์เอ็นได้พูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐไทย ทั้ง พล.อ.อักษรา เกิดผล และ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัตน์ แต่เหตุที่มาตกลงร่วมพูดคุยในชุดของ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เพราะคิดว่าถึงเวลาแล้วที่การต่อสู้ในปาตานีต้องนำมาสู่โต๊ะเจรจา และมีการเปลี่ยนรัฐบาล จากรัฐบาลทหาร มาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แม้นายกรัฐมนตรีจะยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ก็ตาม