บทบาทนักการเมืองระดับท้องถิ่นในเขตพื้นที่ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้
บทคัดย่อ
พฤติกรรมของนักการเมืองในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้บริบทของสถานการณ์ความไม่สงบที่ต่อเนื่องยาวนานกว่าทศวรรษมีลักษณะโดยรวมในเชิงมหภาคเช่นเดียวกับส่วนอื่นในประเทศไทยคือมีการผูกโยงกับการซื้อเสียงและเครือข่ายอุปถัมภ์ของนักการเมืองระดับชาติที่หยั่งรากลึกลงสู่การเมืองระดับท้องถิ่นอย่างเหนียวแน่น อย่างไรก็ดี การดำรงอยู่ของสองสิ่งนี้ก็มีความซับซ้อนและไม่ได้สะท้อนถึงความล้าหลังทางการเมืองในพื้นที่อย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ แม้การเมืองในพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะอิงกับศาสนา แต่รูปแบบการหาเสียงและพฤติกรรมการเลือกตั้งของนักการเมืองและชาวบ้านในหลายพื้นที่ก็ยังแฝงลักษณะความเป็นพหุวัฒนธรรม และแม้ชาวบ้านในพื้นที่จะมีพัฒนาการทางการเมืองสูงขึ้นแต่การเมืองในพื้นที่ก็ยังคงมีลักษณะผูกโยงกับตัวบุคคล ประกอบกับการที่ไม่มีพรรคการเมืองใดผูกขาดการเมืองในพื้นที่ได้ ทำให้เกิดความรุนแรงในการเลือกตั้งอยู่บ่อยครั้ง ความรุนแรงในการเลือกตั้งมีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ความไม่สงบอย่างสลับซับซ้อน ความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบได้บดบังความรุนแรงในการเลือกตั้งจนแทบจะมองไม่เห็น และส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งของชาวบ้านและนักการเมืองในพื้นที่ ในบางพื้นที่สถาบันการเลือกตั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือของขบวนการในการขึ้นสู่อำนาจและใช้อำนาจที่ได้จากตำแหน่งนั้นเอื้อประโยชน์ให้กับการเคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเลือกตั้งในพื้นที่ของประชาชนบางส่วนและจากหน่วยงานของรัฐ จนกระทั่งในบางพื้นที่ตำรวจต้องมีมาตรการวิสามัญอย่างไม่เป็นทางการต่อนักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้
ภายใต้บริบทความรุนแรงความแตกต่างทางชาติพันธุ์ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดบทบาทของนักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองมุสลิมต้องเผชิญกับปัญหาและสถานการณ์ที่ยากจะจัดการกว่านักการเมืองพุทธ เนื่องจากสถานภาพของนักการเมืองทั้งสองฝ่ายที่แตกต่างกัน ความชอบธรรมที่บกพร่องของรัฐชาติไทยในความสัมพันธ์กับคนมุสลิมทำให้นักการเมืองมุสลิมต้องตกอยู่ในสภาวะอันย้อนแย้งที่จะต้องจัดการกับความหวาดระแวงไม่ไว้ใจของรัฐไทยไปพร้อม ๆ กับการเป็นปากเสียงและปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชนมุสลิมที่มองว่าตนเองถูกกดขี่ ในทางกลับกันความเป็นรัฐชาติไทยกลับมีความชอบธรรมอย่างเต็มเปี่ยมในมุมมองคนพุทธและทำให้นักการเมืองพุทธไม่ต้องเผชิญกับสภาวะข้างต้นและด้วยหน้าที่ของนักการเมืองมุสลิมที่ต้องเป็นตัวแทนหรือเป็นผู้ปกครองในชุมชนซึ่งมิอาจทราบได้ว่าสมาชิกในชุมชนนั้นสังกัดฟากฝั่งใด ขณะที่การปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงก็ส่งผลกระทบในทางลบต่อชุมชนและชาวบ้านของพวกเขาอยู่เสมอ สถานการณ์เช่นนี้บีบบังคับให้พวกเขาจำเป็นต้องดำเนินความสัมพันธ์กับรัฐไทยและฝ่ายความมั่นคงแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพื่อรักษาความไว้วางใจต่อลูกบ้านมุสลิมเพื่อรักษาสถานภาพทางอำนาจและความปลอดภัยในชีวิตซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจของรัฐมากขึ้นไปอีก แม้จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากแต่นักการเมืองท้องถิ่นในบางคนก็สามารถบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ให้เบาบางลงได้ผ่านการจัดกิจกรรมสานความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกพุทธและมุสลิมในชุมชน และการเปลี่ยนชุมชนให้กลายเป็นชุมชนเปิด ความสำเร็จดังกล่าวมาพร้อมกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ลดลง
สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญอย่างสลับซับซ้อน ทั้งในกระบวนการได้มาซึ่งอำนาจผ่านการเลือกตั้งและกระบวนการใช้อำนาจและการรักษาไว้ซึ่งอำนาจผ่านการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขา ด้วยภาระหน้าที่และสถานการณ์ที่ต้องเผชิญที่ยากจะจัดการโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักการเมืองมุสลิมทำให้นักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้จำนวนมากตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงได้อย่างง่ายดาย