เสียงจากคนในเรียกร้องต่อทุกฝ่ายร่วมกันหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

ips cscd

เมื่อวันอังคารที่ 20 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา และ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ และเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมจัดงานเสวนาสาธารณะ ภายใต้หัวข้อ “20 ปี ทำไมต้องพูดคุยสันติภาพ?” ร่วมกล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดงานโดย ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา และ ผศ.ดร.สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ภายในงานมีกำหนดการหลากหลายช่วงที่น่าสนใจ อาทิ การบรรยายพิเศษ หัวข้อ Timeline กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี โดย ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต่อด้วยวงเสวนาสาธารณะ เรื่อง ทำไมต้องพูดคุยสันติภาพ? ถ้าไม่คุยชายแดนใต้/ปาตานีจะเป็นอย่างไร? วิทยากรโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (CSCD, IPS, PSU), ผศ.ดร.มุคตาร์ อับดุลกอเดร์ และ ดร.ยูเนี่ยนสาสมีต้า สาเมาะ สถาบันปาตานีเพื่อการวิจัยและพัฒนามนุษย์ (INSANI), คุณอัญชนา หีมมิหน๊ะ สมาคมด้วยใจเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และ คุณซุลกิฟลี ลาเต๊ะ The Patani ดำเนินรายการโดย คุณซาฮารี เจ๊ะหลง The motive

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 วงเสวนาสาธารณะที่น่าสนใจ คือ วงเสวนาเรื่อง "เสียงของคนกลางดงไฟ" วิทยากรโดย คุณรุจิรดา วงศ์แก้ว ต้นกล้าพันธุ์ใหม่, คุณปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAOW) และ คุณพาดีละห์ นิโซะ มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ดำเนินรายการโดย คุณลม้าย มานะการ สภาประชาสังคมชายแดนใต้

ปิดท้ายด้วยวงเสวนา เรื่อง "บอกเล่าประสบการณ์งานชายแดนใต้/ปาตานี" วิทยากรโดย คุณกนกพร ชูพันธ์ กลุ่มเพื่อนเยาวชนและคนพุทธ, คุณคนึงนิจ มากชูชิต สมาคมร่วมสร้างชุมชนศรัทธา กัมปงตักวา, คุณโซรยา จามจุรี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้หรือ (Civic Women), คุณอัญชนา หีมมิหน๊ะ สมาคมด้วยใจเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม, คุณอัสนี ดอราแม็ง องค์การเยาวชนเมืองสาย Persatuan Pemuda/Pemudi Sai - (Persai) ดำเนินรายการโดย คุณอิมรอน ซาเหาะ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (CSCD, IPS, PSU)

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของงานมีการอ่านข้อเสนอแนะจากภาควิชาการและภาคประชาสังคมชายแดนใต้/ปาตานี ซึ่งมีรายละเอียดข้อเสนอดังนี้

1. ท่ามกลางสถานการณ์ของความรุนแรงชายแดนใต้/ปาตานีที่เข้มข้นขึ้นในเวลานี้ เราขอให้พี่น้องประชาชนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดหรือไม่ได้มีศาสนาได้โปรดอดทนอดกลั้นต่อเหตุการณ์ที่มีลักษณะยั่วยุให้เกิดความหวาดระแวงและแตกแยกระหว่างกัน  สถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ ยิ่งต้องทำให้เราเห็นอกเห็นใจกัน เป็นกำลังใจให้กัน 

2. ขอให้สื่อมวลชนได้โปรดใช้ความระมัดระวังในการรายงานข่าวสารที่อาจจะกลายเป็นการเลือกปฏิบัติ ตีตรา เหมารวม หรือทำให้เป็นอื่น สร้างอคติ ความเกลียดชังระหว่างศาสนาและชาติพันธุ์

3. "เสียงจากคนใน" เสียงจากคนในพื้นที่ทั้งพุทธ มุสลิมและศาสนาอื่นพวกเราไม่เอาความรุนแรงและต้องการให้ใช้สันติวิธี เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมกันต่อกระบวนการสันติภาพโดยเฉพาะกลุ่มที่มีบทบาทในการใช้ความรุนแรง ต้องยุติการกระทำที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน และร่วมออกแบบอนาคตด้วยความรับผิดชอบและเกียรติภูมิ

4. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม รัฐบาลต้องเดินหน้าการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการด้วยท่าทีที่เปิดกว้าง ไปให้พ้นจากวาทกรรมทางการเมืองคุยกับโจรหรือวาทกรรมเรื่องตัวจริง-ตัวปลอม วาทกรรมเหล่านี้คือตัวถ่วงทำลายกระบวนการพูดคุยสันติภาพอันเป็นกระบวนการหลักสากลในพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลก

5. สันติวิธีคือทางออกเดียวของปัญหาความขัดแย้ง  กระบวนการสันติภาพไม่ใช่เครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์แต่คือการเปลี่ยนผ่านอย่างลึกซึ้งและซื่อตรง ไม่มีพื้นที่ขัดแย้งใดในโลกที่ความขัดแย้งจบลงด้วยปลายกระบอกปืน ความขัดแย้งจบลงด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ร่วมอ่านข้อเสนอโดยตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ประกอบไปด้วย คุณรุจิรดา วงศ์แก้ว (น้องสปาย) ผู้แทนกลุ่มต้นกล้าพันธุ์ใหม่, คุณอัสนี ดอราแม็ง ผู้แทนองค์การเยาวชนเมืองสาย Persatuan Pemuda/Pemudi Sai - (Persai), คุณฟาฏิล จามจุรี ผู้แทนเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้หรือ (Civic Women), คุณซุลกิฟลี ลาเต๊ะ ผู้แทน The Patani และคุณพาดีละห์ นิโซะ ผู้แทนมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

กล่าวสรุปและปิดงานโดย ดร.ฮาฟีส สาและ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รับชมย้อนหลัง คลิ๊ก ที่นี่