เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ Institute of Education (IOE), Faculty of Education and Society, University College London ได้จัดงานสัมมนา “สร้างเสริมสันติภาพผ่านการศึกษา: จินตนาการการขับเคลื่อนด้านการศึกษาในพื้นที่ความขัดแย้งชายแดนใต้” ณ ห้องประชุมปัตตานีภิรมย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมี ผศ.ดร. กุสุมา กูใหญ่ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเปิดงาน
ในช่วงเช้า มีการสัมมนา “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษากับโอกาสในการขับเคลื่อนสันติภาพในชายแดนใต้” โดยมี รศ.ดร.เอกรินทร์ สังข์ทอง อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.ยูเนียนสาสมีต้า สาเมาะ ภาควิชาภาษามลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ผศ.ดร. พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร และมี ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยการเสวนาได้พูดถึงความเป็นไปได้ในการใช้พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นพื้นที่ทดลองโครงการในการขับเคลื่อนการสร้างสันติภาพโดยผ่านการศึกษา อาทิ การเรียนการสอนทวิภาษาบนฐานของภาษาแม่ การศึกษาเพื่อการสร้างสันติภาพ
ในช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอรายงานเรื่อง “สร้างเสริมสันติภาพผ่านการศึกษาในชายแดนใต้: โอกาสและความท้าทาย” โดย Prof. Tejendra Pherali, Professor of Education, Conflict and Peace at UCL Institute of Education, University College London และ ดร. รุ่งรวี ซึ่งดำเนินรายการโดยนายอิมรอน ซาเหาะ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ซึ่งได้เปิดโอกาสให้มีผู้เข้าร่วมรับฟังทางออนไลน์ผ่านระบบซูมด้วย โดยรายงานได้กล่าวถึงบทบาทของการศึกษาซึ่งมีได้หลายรูปแบบ ทั้งการเป็น “เหยื่อ” ของความรุนแรง การเป็น “ผู้กระทำ” ให้เกิดความขัดแย้ง รวมไปถึงบทบาทของการศึกษาในการเป็น “ผู้ปลดปล่อย” และ “ผู้สร้างสันติภาพ”
ข้อท้าทายคือเราจะเปลี่ยนบทบาทของการศึกษาจากบทบาทเชิงลบมาสุ่บทบาทในเชิงบวกได้อย่างไร โดยรายงานนี้ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จะได้มีการปรับปรุงแก้ไขและเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสถาบันสันติศึกษาต่อไป