ข้อถกเถียงว่าด้วยการเป็นผู้นำทางการเมืองกับผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้
ยาสมิน ซัตตาร์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
อิมรอน ซาเหาะ
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
อับดุลเอาว์วัล สิดิ
โครงการมะดีนะตุสสลาม มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
บทคัดย่อ
จุดประสงค์ บทความเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องพื้นที่ทางการเมืองแบบเป็นทางการของผู้หญิงมลายูมุสลิมชายแดนใต้: บทบาท โอกาส และข้อท้าทาย โดยงานชิ้นนี้ต้องการอภิปรายข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องการเป็นผู้นำของสตรีในอิสลาม โดยมีกรณีตัวอย่างของผู้หญิงมลายูมุสลิมชายแดนใต้
วิธีการศึกษา งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้วิธีการศึกษาผ่านงานวิจัยและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการศึกษาผ่านการเก็บข้อมูลในพื้นที่สนามการเมืองชายแดนใต้ที่มีสตรีมลายูมุสลิมอยู่ในพื้นที่
ผลการศึกษา พบว่า ในพื้นที่ชายแดนใต้มีข้อท้าทายประการสำคัญสำหรับผู้หญิงมุสลิมในการเข้าสู่พื้นที่ทางการเมือง นั่นคือข้อถกเถียงเรื่องบทบาทของผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ทางการเมืองซึ่งมีการตีความของนักกฎหมายอิสลามและผู้รู้ในอดีตในบริบทที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวิธีการมองบทบาทหน้าที่ของความเป็นผู้หญิงหรือมีจารีตประเพณีในแต่ละสังคม และสำหรับผู้รู้ศาสนาอิสลามบางท่านก็ไม่ได้มองว่าการมีบทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้นำไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการศาสนา ตราบใดที่เมื่ออยู่ในตำแหน่งนั้นแล้วผู้หญิงคนนั้นยังคงสามารถรักษาการปฏิบัติตนตามหลักการศาสนาอิสลามเอาไว้ได้ ขณะเดียวกันในพื้นที่ชายแดนใต้พบว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังคงไม่ยอมรับในบทบาทการเป็นผู้นำของผู้หญิง ซึ่งมีผลต่อตัวนักการเมืองสตรีในพื้นที่ที่แม้จะมีต้นทุนในเรื่องต่าง ๆ ประกอบกันแล้ว ก็อาจทำให้ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตได้
การนำผลวิจัยไปใช้ ผลของงานวิจัยชิ้นนี้ได้นำไปแลกเปลี่ยนกับตัวแทนสมาชิกผู้แทนราษฎรหญิงในพื้นที่ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนในการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งใช้ประกอบในการดำเนินงานต่อไป
ที่มา วารสารอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์