
เมื่อวันที่ 14 – 16 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมกับสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดโครงการ อบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรพัฒนาศักยภาพด้านการสร้างสันติภาพสำหรับสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ณ โรงแรม Le Meridien Phuket Mai Khao Beach Resort ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
โครงการอบรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านกระบวนการสันติภาพ ความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทความขัดแย้ง การบริหารจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรม บทบาทของภาคประชาชนและรูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ พร้อมยกระดับศักยภาพของสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายจากประชาชนสู่หน่วยงานภาครัฐและส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน
พิธีเปิดได้รับเกียรติจาก นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวต้อนรับสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ
กิจกรรมการอบรมประกอบด้วยการเสวนาโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่หลากหลาย อาทิ
- พัฒนาการของกระบวนการพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
- แนวคิดเรื่องสภากระจายอำนาจ (Devolution Assembly) บทบาทของสภาที่ปรึกษาฯ และบทเรียนจากต่างประเทศ
- การส่งเสริมความหลากหลายและการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม
- รูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสันติภาพ
- แนวคิดและประสบการณ์ด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice)
ทั้งนี้ คณาจารย์และบุคลากรของสถาบันสันติศึกษา ได้แก่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช คุณอิมรอน ซาเหาะ และ Dr. Anders Engvall จาก Stockholm School of Economics ประเทศสวีเดน ร่วมเป็นวิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
บรรยากาศการอบรมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซักถามเชิงลึกและระดมสมองกับผู้แทนจากหน่วยงานรัฐและภาควิชาการ เพื่อร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานสันติภาพในระยะต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาควิชาการ เพื่อเสริมสร้างพลังทางความรู้และเครือข่ายการทำงานของสภาที่ปรึกษาฯ ให้สามารถมีบทบาทอย่างแท้จริงในการผลักดันการแก้ไขปัญหาและสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับ “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” นั้นเป็นกลไกที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 มาตรา 19 บัญญัติให้มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นพื้นที่ให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะแนวนโยบายและมาตรการที่เหมาะสมต่อการบริหาร การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเสริมสร้างความเป็นธรรมและความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐกับประชาชน โดยสภาที่ปรึกษาฯ มีตัวแทนของประชาชนที่หลากหลาย ได้แก่ ผู้แทนศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้สอนและบุคคลากรทางการศึกษา สถานศึกษาปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม กลุ่มสตรี ผู้แทนภาคธุรกิจ สื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งสิ้น 13 กลุ่ม 47 คน
The National Security Council (NSC), Institute of Peace Studies (IPS) at Prince of Songkla University, the Advisory Council on Administration and Development of Southern Border Provinces and the Southern Border Provinces Administrative Center (SBPAC) jointly organized a workshop on 14-16 July 2025 at Le Meridien Phuket Mai Khao Beach Resort in Phuket, to enhance capacity of the Advisory Council’s members to drive peace process and peacebuilding in the southernmost provinces.
The workshop, presided over by the Secretary-General of the National Security Council (NSC), Mr. Chatchai Bangchuad, covers various issues such as the development of peace process, power sharing, cultural diversity and intercultural education, public participation in the peace process and transitional justice. The IPS team, led by IPS Director Asst. Prof. Dr. Kusuma Kooyai, includes Asst. Prof. Dr. Srisompob Jitpiromsri, Dr. Rungrawee Chalermsripinyorat, and Mr. Imron Sahoh, together with Dr. Anders Engvall from the Stockholm School of Economics in Sweden, joined the workshop as speakers and moderators.
The Advisory Council, established under the Southern Border Provinces Administration Act B.E. 2553, is designed to enhance people’s participation in development and conflict resolution in the Deep South. The 47-member Advisory Council consists of representatives from various sectors, including religious leaders, local leaders, civil society, education sector, women, business, mass media and experts.