การเพ่งพินิจ การแสดงด้วยภาพและการสร้างความรู้: พัฒนาการของระบบฐานข้อมูลติดตามและเฝ้าระวังความขัดแย้งของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
โดย
ดร.สมัชชา นิลปัทม์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
บทคัดย่อ
การวิจัยโดยใช้วิธีการวิจัยแบบที่ใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว (Research Using Available Data) ชี้ให้เห็นว่าระบบข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและสันติภาพ โดยทั่วไป ฐานข้อมูลต้องพัฒนามาจากฐานความรู้ซึ่งเป็นผลพวงมาจากแนวความคิดในเรื่องสันติภาพที่เสรี (Liberal Peace) ซึ่งมีความเชื่อที่ว่าศักยภาพในการเก็บรวบรวม เผยแพร่และตีความข้อมูล เป็นหัวใจสำคัญต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพที่มีเสรีภาพ การเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยี ทำให้มีพัฒนาการวิธีการในการเก็บข้อมูลและนำเสนอในสถานการณ์ความขัดแย้งให้ซับซ้อนขึ้น Deep South Watch เป็นระบบฐานข้อมูลซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ทางวิชาการต่อสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากสถาบันการศึกษาในพื้นที่โดยมีพัฒนาการต่อเนื่องมาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
อีกด้านหนึ่งงานวิจัยก็แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเฝ้าระวังนี้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการมองเห็นภาพและความรับรู้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการสร้างวาทกรรมแห่งความรู้และการสื่อสารความรู้ อันเป็นการสร้างความจริงอีกแบบหนึ่ง การมองเห็นด้วยภาพมีความสัมพันธ์กับความรู้ใหม่ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังแบบเดียวกับการพัฒนาความรู้ของพยาธิวิทยากายวิภาคศาสตร์ในโลกยุคใหม่ ระบบฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังภาคใต้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่สำคัญก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง “การเพ่งพินิจ” (Gazing) และ “การแสดงภาพ” (Visualization) ทำให้เกิดการมองเห็นพลวัตของความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นใหม่ ทั้งในมิติเวลาและสถานที่ ทั้งนี้ ฐานข้อมูลเฝ้าระวังที่สร้างจากหลายภาคส่วนในพื้นที่จึงต่างจากฐานข้อมูลด้านความมั่นคงที่เคยสร้างมาก่อนหน้าซึ่งมีมิติปิดลับ แข็งตัวและไม่มีความยืดหยุ่น
ที่มา วารสารความขัดแย้งและสันติศึกษา สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์