การสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ [PEACE SURVEY] ครั้งที่ 6

PS#6

นับตั้งแต่ปี 2556 การพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทยกับตัวแทนของกลุ่ม BRN คือจุดเปลี่ยนสถานการณ์ที่สำคัญที่เป็นการเปิดพื้นที่ของการสื่อสารระหว่างทั้งสองฝ่าย และส่งผลความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จุดเปลี่ยนนี้ทำให้ประชาชนมีความหวังว่านี่จะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีและเปิดโอกาสให้เสียงของประชาชนที่ทั้งสองฝ่ายในการพูดคุยต่างกล่าวย้ำว่า “จะฟังเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ” ได้เป็นที่รับรู้และนำไปสู่การหาข้อตกลงเพื่อสันติภาพร่วมกัน

ในทางวิชาการ เราพบว่าประสบการณ์จากการแก้ปัญหาความขัดแย้งทั่วโลกแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เสียงของประชาชนจากทุกกลุ่มวัฒนธรรมในพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดว่ากระบวนการสันติภาพจะดำเนินไปในทิศทางใด มีความต่อเนื่องหรือไม่ และข้อตกลงที่จะได้จะมีความยั่งยืนหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ สถาบันทางวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคม 24 องค์กรทั้งในและนอกพื้นที่จึงได้ริเริ่มการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นการสำรวจความคิดเห็นเรื่องกระบวนการสันติภาพครั้งแรกและดำเนินการทุกปีจวบจนในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 6 เพื่อให้แนวทางการสร้างสันติภาพดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนและอยู่บนพื้นฐานการใช้ข้อมูลความรู้เป็นสำคัญ 

รายงานผลการสำรวจครั้งที่ 6 โดยเครือข่ายวิชาการ PEACE SURVEY นี้ มีข้อค้นพบที่น่าสนใจทั้งในด้านการประเมินทัศนคติ แรงสนับสนุน และข้อกังวลของประชาชนต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนมุมมองต่อสถานการณ์ บทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการแก้ไขปัญหา และข้อเรียกร้องของประชาชนต่อทางออกของปัญหา

อนึ่ง เครือข่ายวิชาการ PEACE SURVEY ขอขอบคุณประชาชนในพื้นที่ “ผู้เป็นเจ้าของเสียงแห่งสันติภาพ” และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ให้การสนับสนุนโครงการสำรวจความคิดเห็นนี้ ขอบคุณสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าที่สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง และขอขอบคุณนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมจากองค์กรภาคประชาสังคมในเครือข่ายวิชาการ PEACE SURVEY ทั้ง 24 องค์กรที่ได้ร่วมกันทำให้เสียงของประชาชนเป็นที่รับรู้และได้ยิน และสุดท้ายนี้ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ให้ความสนใจติดตาม

 

เครือข่ายวิชาการ Peace Survey