รูปแบบและการปรับตัวของการสื่อสารจากกลุ่มเยาวชนชายแดนใต้ในชุมชนเชิงกายภาพและชุมชนออนไลน์ภายใต้ภาวการณ์ระบาดของโควิด - 19

วช.

บทสรุปผู้บริหาร

 

ชื่อโครงการ (ไทย)        รูปแบบและการปรับตัวของการสื่อสารจากกลุ่มคนรุ่นใหม่และเยาวชนชายแดนใต้ในชุมชนเชิงกายภาพและชุมชนออนไลน์ภายใต้ภาวการณ์ระบาดของโควิด - 19

                 (อังกฤษ)        Approaches and Adaptation of Communication among Deep South’s Youths/Young People in the Physical Community and Online Platforms amidst the Spreading of COVID-19

 

ระยะเวลาวิจัย             12 เดือน เริ่มทำวิจัยตั้งแต่ กันยายน 2563 ถึง  สิงหาคม 2564

 

คณะผู้วิจัย

หัวหน้าโครงการ  ดร.ยาสมิน ซัตตาร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

                            ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000 โทรศัพท์ 073330810 อีเมล yasmin.s@psu.ac.th                                                                                                                                 

 

ผู้ร่วมวิจัย            ดร.สมัชชา นิลปัทม์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000 โทรศัพท์ 073349692

อีเมล samatcha.n@psu.ac.th

 

อิมรอน ซาเหาะ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000 โทรศัพท์ 073350433

อีเมล imron.s@psu.ac.th   

 

ที่ปรึกษา            ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

                          ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000

อีเมล tmfahmee@gmail.com

                            

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000

อีเมล walakkamol.c@psu.ac.th

 

 

หน่วยงานหลัก              คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

หน่วยงานสนับสนุน       สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

          คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

สรุปโครงการวิจัย         นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้เริ่มต้นอย่างเห็นได้ชัดมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2562 กระทั่งถึงต้นปี 2563 กลับมาแพร่ระบาดในระลอกที่ 2 ระลอกที่ 3 ตลอดจนระลอกที่ 4 ในหลายประเทศ ซึ่งปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อการคุมการระบาดของโรคนอกจากการกลายพันธุ์แล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของการระบาดของโลก ความล่าช้าของข้อมูลการระบาดตลอดจนความล่าช้าในการผลิตและกระจายวัคซีน ภายใต้สถานการณ์นี้เอง พื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาสก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ในสถานการณ์วิกฤตระหว่างการระบาดในรอบแรก กลุ่มคนรุ่นใหม่และเยาวชนที่อยู่ในชุมชนบางพื้นที่ได้เริ่มมีบทบาทที่เห็นเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในการเผยแพร่องค์ความรู้แก่ผู้คนในชุมชนและผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีการเผยแพร่สื่อสารองค์ความรู้ในชุมชนกายภาพที่จับต้องได้ มีลักษณะเป็นชุมชนแบบเดิม และในชุมชนเสมือนจริงบนพื้นที่ออนไลน์ โดยการสื่อสารของกลุ่มคนรุ่นใหม่และเยาวชนเหล่านี้ มุ่งเน้นสื่อสารแนวทางการรับมือและมาตรการการป้องกัน รวมทั้งสร้างความเข้าใจถึงเหตุผลที่อาจมีผู้ไม่เข้าใจถึงความจำเป็นนั้น

                             จากการสัมภาษณ์และการจัดทำการสนทนากลุ่มของผู้ให้ข้อมูลตัวแทนจากทั้ง 3 กลุ่มตัวอย่าง รวมถึงการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการออนไลน์เพื่อหาคำตอบของงานวิจัยในเรื่องการปรับตัวในการสื่อสารและกลไกการสื่อสารในภาวะวิกฤตที่มีเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการสื่อสาร ในชุมชนกายภาพและชุมชนเสมือนจริงในพื้นที่ออนไลน์ภายใต้ภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 มีการปรับตัวในการสื่อสารอย่างน่าสนใจในภาวะการระบาดระลอกแรก และมีข้อจำกัดมากขึ้นในการระบาดระลอกต่อๆ มา ทำให้การสื่อสารไม่มากเท่ากับในช่วงการระบาดในระลอกแรก ในขณะที่กลไกการใช้การสื่อสารเชิงรุกในชุมชนกายภาพและชุมชนเสมือนจริงในพื้นที่ออนไลน์ของคนรุ่นใหม่/เยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ในการหนุนเสริมการทำงานของชุมชนเพื่อป้องกันการระบาดของโรค อยู่ในระดับชุมชนเชิงกายภาพและชุมชนเสมือนจริงในพื้นที่ออนไลน์ ที่ได้ดำเนินการจากทั้งหน่วยงานรัฐและจากภาคเอกชน แต่ยังพบว่ามีข้อท้าทายหลายประการที่ปรากฏในระหว่างการสื่อสาร

                             สรุปผลการวิจัยของกลุ่มตัวอย่างทั้งสามกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น The Motive , MUSLIMITED หรือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ในบันนังสตา พบว่า รูปแบบการสื่อสารของทั้งสามกลุ่มมีลักษณะเฉพาะปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบของกลุ่มเป้าหมายที่แต่ละกลุ่มต้องการสื่อสารด้วย ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ออนไลน์หรือในชุมชนเชิงกายภาพ โดยรูปแบบการนำเสนอของกลุ่มตัวอย่างทั้งสามกลุ่มมีสิ่งที่น่าสนใจคือ การปรับใช้ภาษาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย มีการนำเอาภาษามลายูถิ่นมาใช้เพื่อทำให้ผู้รับสารเข้าใจในสิ่งที่ต้องการสื่อมากขึ้น รวมถึงการใช้เครื่องมือในการสื่อสารที่เน้นความง่ายและเข้าถึงผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ภาวะวิกฤตอย่างโรคระบาดที่ต้องการเน้นเรื่องการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คน อาจจะผ่านการทำสรุป Infographic คลิปวิดีโอ การไลฟ์สด โปสเตอร์ ใบปลิว รถแห่ หรือกระทั่งการนั่งพูคคุยกับผู้คนในชุมชน ตลอดจนรูปแบบการใช้ผู้นำทางความคิดหรือ Influencer เข้ามาในการสื่อสารทั้งในพื้นที่ออนไลน์หรือเป็นผู้นำทางความคิดในระดับชุมชน โดยในที่นี้อาจเป็นผู้นำศาสนาในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งในกระบวนการแปลงสารให้น่าสนใจมากขึ้นโดยเฉพาะในรูปแบบออนไลน์นี่เองที่เป็นจุดเด่นสำคัญสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถเข้ามาเติมเต็มการสื่อสารในภาวะวิกฤตได้ดีขึ้น นอกจากนั้นรูปแบบการสื่อสารในชุมชนที่สื่อสารจากกลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะมีการตรวจสอบข้อมูลลวงหรือข่าวลือที่เกิดขึ้นในภาวะการเกิดโรคระบาด แล้วนำไปสื่อสารต่อในชุมชนได้ดีกว่า การสื่อสารประเด็นใหม่ในภาวะโรคระบาดที่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบแหล่งข้อมูลที่มา จึงเป็นอีกหนึ่งประการสำคัญที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารในภาวะการแพร่ระบาดได้ ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า การสื่อสารในชุมชนแบบกายภาพในภาวะวิกฤตเป็นวิธีการที่เข้าถึงผู้รับสารที่ตรงจุดได้ดีกว่า โดยเฉพาะในระดับชุมชน แต่การใช้ช่องทางออนไลน์ในชุมชนเสมือนจริง จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะบางกลุ่ม และเป็นเนื้อหาที่สื่อสารกับคนวงกว้างในสังคมได้มากกว่ามุ่งเน้นสื่อสารในพื้นที่ชุมชนทางกายภาพใดๆ แบบเฉพาะเจาะจง

งานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะต่อฝ่ายนโยบายและภาคประชาชนในมิติการสื่อสารในภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังต่อไปนี้

ต่อฝ่ายนโยบาย

- ในภาวะวิกฤติจะมีการความพยายามรับมือกับปัญหาด้วยด้วยตัวของชุมชนเองเกิดขึ้นเสมอ ภาครัฐควรมองเป็นเรื่องปกติและให้การสนับสนุน

- แม้การบริหารและสื่อสารในภาวะวิกฤติมีความจำเป็นที่จะต้องรวมศูนย์เอาไว้ส่วนกลางเพื่อสร้างเอกภาพในการทำงานเพื่อการสื่อสารที่คมชัด แต่ภายใต้สถานการณ์การระบาดที่ซับซ้อนและมีขนาดใหญ่ รวมถึงพื้นที่ๆ มีความพิเศษในทางภาษาวัฒนธรรม มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจ ที่จะเอื้อให้การริเริ่มปรับตัวและการสื่อสารของภาคประชาชน ทั้งนี้ควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและมีกลไกการสร้างความร่วมมือเพื่อการสร้างการทำงานร่วมกัน

- สื่อบุคคล มีความสำคัญอย่างมากในภาวะวิกฤติ แต่นโยบายของรัฐจะต้องมีความชัดเจนและโปร่งใสมากเพียงพอ มิเช่นนั้นสื่อบุคคลจะสูญเสียความน่าเชื่อถือและจะไม่สามารถทำหน้าที่ในชุมชนได้อีก

- หน่วยงานภาครัฐอาจจำเป็นต้องมีชุดข้อมูลที่ละเอียดและเปิดเผยอย่างโปร่งใส ซึ่งเป็นข้อมูลที่คำนึงในมิติพื้นที่ระดับชุมชน ตลอดจนในมิติเพศ ที่จะทำให้หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องสามารถนำเอาข้อมูลนี้ไปสื่อสารต่ออย่างชัดเจนและตอบโจทย์กลุ่มเฉพาะเช่น กลุ่มผู้หญิงและเด็ก ได้

- การผนวกเอาคนรุ่นใหม่เข้าไปอยู่ในกลไกที่ทำงานของรัฐในการสื่อสาร อาจทำให้การสื่อสารมีความหลากหลาย และสามารถเข้าถึงกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มากยิ่งขึ้น ด้วยกับธรรมชาติของคนรุ่นใหม่ที่มีความไวต่อเทคโนโลยีและมีการเข้าถึงข้อมูลความรู้ รวมถึงการย่อยภาพและสื่อสารที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น

- สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้แล้วในภาวะวิกฤติโรคระบาด ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการจัดการมัสยิดอย่างรอบด้าน เพราะมัสยิดไม่ได้จุดกระจายโรคระบาดเพียงอย่างเดียว แต่อีกด้านหนึ่งมัสยิด คือหัวใจของชุมชนมุสลิมและเป็นหัวใจของการสื่อสารภายในชุมชน

- การสื่อสารสองทางคือหัวใจของการรับฟังปัญหาจากพื้นที่เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง
ดังนั้นภาครัฐควรต้องให้ความสำคัญต่อกลไกการสื่อสารนี้ โดยอาจมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงเพื่อที่จะช่วยให้การแก้ปัญหาถูกต้องแม่นยำเป็นไปตามความต้องการของชุมชน

 

ต่อภาคประชาชน

- กลไกการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ยังต้องการกลไกการสื่อสารในระดับพื้นฐานที่สามารถจะเข้าถึงพื้นที่ได้ดี เช่น วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว รถกระจายข่าว โฆษกชุมชน ที่สามารถทำงานคู่ไปกับการทำงานในระดับสาธารณสุขพื้นฐาน กลไกเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มที่

- การสื่อสารสองทางคือหัวใจของการบอกความต้องการของพื้นที่ ดังนั้นกลไกการสื่อสารจากพื้นที่จึงมีความสำคัญในการที่จะบอกกล่าวความต้องการของชุมชนและทักท้วงนโยบายที่ไม่เหมาะสมที่จะส่งผลกระทบต่อชุมนุมในภาครัฐได้รับรู้

- การสร้างกลไกในระดับชุมชนที่เป็นระบบชัดเจน หรือการออกแบบธรรมนูญชุมชนเป็นสิ่งสำคัญซึ่งควรมีการระบุถึงการจัดการและการสื่อสารในภาวะวิกฤตหรือภาวะเสี่ยงอื่นๆ เพื่อหากเกิดภาวะวิกฤตแล้วสามารถรับมือได้ทันท่วงที โดยในกลไกนี้ควรมีเยาวชนและคนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วมสำคัญ

- การสื่อสารในพื้นที่ออนไลน์จำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ อาจผ่านรูปแบบ
การรณรงค์ออนไลน์ การส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เยาวชนมีโครงการที่จะมีส่วนร่วมในการสื่อสารประเด็นเกี่ยวกับการรับมือและแนวทางแก้ปัญหาในภาวะวิกฤต หรือการมีส่วนร่วมของผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influencer) ในพื้นที่ออนไลน์ ในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสาร

- สื่อและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ควรมีการติดตามว่าในแต่ละช่วงของภาวะวิกฤตควรสื่อสารกับกลุ่มใดเป็นพิเศษ และควรสื่อสารในประเด็นใดที่ตลอดจนรูปแบบใดที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมร่วมจากทุกฝ่ายในชุมชนได้